ออสเตรเลียจะฉีดวัคซีนโควิดทั้งประเทศทันเดือน ต.ค.นี้หรือไม่

โครงการฉีดวัคซีนโควิดในออสเตรเลียส่อเค้าล่าช้า ท่ามกลางความขัดแย้งของการทำงานระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น หวั่นกระทบกรอบเวลาฉีดวัคซีนทั้งประเทศปลายปีนี้

A nurse draws from a vial of Covid-19 vaccine at the Camp Hill Medical Centre n Brisbane on Monday, March 22, 2021.

A nurse draws from a vial of Covid-19 vaccine at the Camp Hill Medical Centre n Brisbane on Monday, March 22, 2021. Source: AAP

ประเด็นสำคัญ

  • เกิดความขัดแย้งในโครงการเปิดตัววัคซีนระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น หลัง NSW-QLD แสดงความไม่พอใจกรณีถูกกล่าวหาว่ากักตุนวัคซีน
  • จำนวนประชาชนในออสเตรเลียที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วน้อยกว่า 8 แสนคน ไม่เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ที่ 4 ล้านคนภายในสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
  • นักวิทย์วิเคราะห์ พบความเร็วในการจ่ายวัคซีนเริ่มได้จังหวะ หลังเริ่มเคลีย์ปัญหาเรื่องสต๊อกวัคซีนต่างประเทศ และสามารถผลิตในประเทศเองได้

การผลักดันการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของออสเตรเลียในระยะแรกไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หลังเกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลรัฐต่าง ๆ ระหว่างการเปิดตัววัคซีนในสัปดาห์นี้

เมื่อวันพุธที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ ได้ออกมาตอบโต้ในกรณีข้อกล่าวหาการกักตุนวัคซีน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง และการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีความล่าช้าในการเปิดตัววัคซีนในช่วงเริ่มต้น

จนถึงขณะนี้ มีผู้คนน้อยกว่า 8 แสนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในออสเตรเลีย ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรก 4 ล้านคนภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แต่อย่างไรก็ตาม นายเกร็ก ฮันท์ (Greg Hunt) รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียยังคงดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ในการฉีดวัคซีนโดสแรกให้ครบทั้งประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้

“เราไม่ได้เปลี่ยนกรอบเวลาใด ๆ เมื่อดูจากเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับวัคซีน และหากต้องเปลี่ยนกรอบเวลา เราจะมีการระบุในส่วนนี้” นายฮันท์ กล่าว

แล้วเกิดอะไรขึ้นในการเปิดตัววัคซีนในออสเตรเลีย และประชาชนจะได้รับวัคซีนทันตามกรอบเวลาในตอนนี้หรือไม่

ปัญหาสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศ

สหภาพยุโรปได้ระงับการส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) หลายแสนโดสมายังออสเตรเลีย หลังเกิดข้อถกเถียงในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน โดยระบุว่า วัคซีนจากผู้ผลิตรายดังกล่าวจะต้องมีประสิทธิภาพตามที่ระบุในสัญญาในประเทศกลุ่มแรกเสียก่อน

ศาสตราจารย์เบรนแดน เมอร์ฟี (Brendan Murphy) เลขาธิการหน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลีย ได้แถลงต่อคณะวุฒิสภาพิจารณางบประมาณ โดยระบุว่า ออสเตรเลียได้พยายามหลายครั้งเพื่อให้มีการจัดส่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาจากต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่มีความหวังว่าวัคซีนจากผู้ผลิตดังกล่าวมาถึงออสเตรเลียในเร็ว ๆ นี้  

ผศ.เดโบราห์ กลีสัน (Deborah Gleeson) จากมหาวิทยาลัยลา โทรบ (La Trobe University) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า ปัญหาเรื่องสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดต่อความล่าช้าในการเปิดตัววัคซีนของออสเตรเลีย

แต่อย่างไรก็ตาม ผศ.กลีสัน กล่าวว่า ปัญหาสต๊อกวัคซีนในต่างประเทศจะส่งผลกับออสเตรเลียเพียงเล็กน้อย หลังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ได้อนุมัติการผลิตวัคซีนโควิดภายในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สต๊อกวัคซีนของแอสตราเซเนกาในออสเตรเลียกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง   

เธอกล่าวอีกว่า การจองสิทธิ์ผลิตวัคซีนภายในประเทศของออสเตรเลียนั้นเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด ขณะที่สต๊อกวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังขาดแคลนในเวลานี้

ความขัดแย้งในการทำงานของรัฐบาลสหพันธรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่น

การวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกสภาในรัฐบาลสหพันธรัฐ 2 คน ในประเด็นเรื่องความเร็วในการเปิดตัววัคซีนและการจัดเก็บ ได้นำไปสู่ความไม่พอใจจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ และรัฐควีนส์แลนด์

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเราเกี่ยวกับวัคซีนในตอนนี้ ก็คือการทำให้แน่ใจว่ารัฐและมณฑลต่าง ๆ เปิดตัววัคซีนจากสต๊อกวัคซีนที่ตนเองมี” นายแดน เทียน (Dan Tehan) รัฐมนตรีการท่องเที่ยว กล่าว

การแถลงของรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว เกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า พบข้อมูลที่รั่วไหลไปยังสำนักข่าว News Corp Australia ซึ่งเปิดเผยให้เห็นว่า รัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ฉีดวัคซีนโควิดเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของโดสวัคซีนที่ได้รับมาทั้งหมด ซึ่งอาจหมายความว่ามีการกักตุนวัคซีนเกิดขึ้น

แต่ นางกลาดีส์ เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า รายงานฉบับดังกล่าวนั้ไม่เป็นความจริง และรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็ต้องการที่จะเร่งเปิดตัววัคซีนให้เร็วขึ้นอยู่แล้ว โดยล่าสุด เธอได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นายสกอตต์ มอร์ริสัน เพื่อขออนุมัติการเพิ่มบทบาทของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ในโครงการเปิดตัววัคซีนโควิด และได้เตือนว่า ออสเตรเลียอาจฉีดวัคซีนโดสแรกไม่ทันเป้าหมายในเดือนตุลาคมนี้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลสหพันธรัฐ

“ยิ่งผู้คนได้รับวัคซีนเร็วขึ้นเท่าใด เราก็สามารถผ่อนคลายมาตรการจำกัดห้ามต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยขึ้นในการเดินทางต่างประเทศ และดิฉันคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ” นางเบเรจิกเลียน กล่าว

นางอนาสตาเซีย ปาลาเชย์ มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า เธอต้องการให้รัฐบาลสหพันธรัฐเผยแพร่ตัวเลขการฉีดวัคซีน และจำนวนวัคซีนในสต๊อกรายวัน ในทุกรัฐและมณฑลทั่วประเทศเพื่อความโปร่งใส

“เราจะเผยแพร่ตัวเลขสถิติวัคซีนของเราทุกวัน และมันจะเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลสหพันธรัฐจะทำสิ่งเดียวกันนี้ด้วย” นางปาลาเชย์ กล่าว

นักวิทย์ฯ ชี้จังหวะการจ่ายวัคซีนกำลังเร็วขึ้น

ศาสตราจารย์แมกดาเลนา พเลแบนสกี (Magdalena Plebanski) จากมหาวิทยาลัย RMIT กล่าวว่า การเปิดตัววัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศนั้น ตามปกติจะใช้เวลาราว 1 เดือนขึ้นไป ก่อนที่จะสามารถเปิดตัววัคซีนในระดับที่เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ปัญหาเกี่ยวกับสต็อกวัคซีนนั้นได้รับการแก้ไข

โดยเธอคาดว่า สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับออสเตรเลียได้ด้วยเช่นกัน

“หากคุณดูกราฟที่แสดงจำนวนการฉีดวัคซีนต่อวัน มันจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก่อนที่มันจะเริ่มเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของตัวเลขการจ่ายและฉีดวัคซีนหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลา 1 เดือนไปแล้ว” ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าว

“มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเกิดความล่าช้าในจุดนี้ การเปิดตัววัคซีนนั้นกำลังได้จังหวะที่เหมาะสม และดิฉันหวังว่าปัญหาต่าง ๆ จะทยอยได้รับการแก้ไขตลอดการดำเนินโครงการนี้”  

ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าวอีกว่า ความล่าช้าในกรอบเวลาช่วงแรกนั้น สำคัญน้อยกว่าข้อเท็จจริงที่ว่า วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพนั้นกำลังได้รับการเปิดตัวไปยังผู้คนที่ต้องการมัน

“สิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็คือหนทางที่วัคซีนได้รับการกระจายไปยังจุดต่าง ๆ โดยคำนึงถึงบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพ และผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอันดับแรก นั่นจะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้” ศาสตราจารย์พเลแบนสกี กล่าว

“ถ้าหากเราทุกคนได้ฉีดวัคซีนโควิดภายในเดือนตุลาคมนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกิดมันต้องล่าช้าไปอีก 2-3 เดือน มันก็คงต้องเป็นไปอย่างนั้น”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณควรตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ผู้เดินทางมีสิทธิ์อย่างไรช่วงโควิดระบาด


Share
Published 5 April 2021 1:13pm
Updated 5 April 2021 5:30pm
By Jarni Blakkarly
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends