‘ติดขัดอย่างที่สุด’: ความท้าทายที่ระบบวีซ่าของออสเตรเลียกำลังเผชิญ

นายแอนดรูว์ ไจลส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า ความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาวีซ่าเป็นวาระสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลของเขาจะแก้ไข แต่นักวิเคราะห์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ระบบการพิจารณาวีซ่าของออสเตรเลียกำลังประสบภาวะ ‘ติดขัดอย่างที่สุด’

immigration_sbs_news.jpg

Source: SBS News / Aaron Hobbs

รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง แอนดรูว์ ไจลส์ ยอมรับว่า “ยังมีอีกมากที่ต้องทำ” เพื่อสร้างโครงการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียขึ้นใหม่ ซึ่งระบบยังคงเผชิญผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

“ในแง่ของความล่าช้ามากเกินธรรมดาที่เราเห็นในการดำเนินการพิจารณาวีซ่า นี่เป็นวาระสำคัญสำหรับผมและรัฐบาลพรรคแรงงานภายใต้นายอัลบานีซี” นายไจลส์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าที่เกี่ยวข้องกับด้านมนุษยธรรม การกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งของสมาชิกครอบครัว หรือวีซ่าลูกจ้างทักษะ เราจำเป็นต้องทำให้ดีกว่านี้มาก”

เขาได้ดำเนินการขอคำแนะนำเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ที่กรมการตรวจคนเข้าเมืองต้องเผชิญ โดยถือเป็น "วาระเร่งด่วน"

กรมการตรวจคนเข้าเมืองกำลังเผชิญกับการตัดงบประมาณ 875 ล้านดอลลาร์ โดยจากแผนปรับปรุงร่างงบประมาณสหพันธรัฐที่รัฐบาลมอร์ริสันประกาศในเดือนมีนาคม

นี่เป็นสิ่งที่ในตอนนี้รัฐบาลอัลบานีซีต้องเลือกว่าจะจัดการกับประเด็นนี้เมื่อแถลงร่างงบประมาณสหพันธรัฐครั้งแรกของรัฐบาลพรรคแรงงานในเดือนตุลาคมนี้หรือไม่

กระทรวงมหาดไทย (Home Affairs department) ยืนกรานว่า กระทรวงยังคงต้องรับมือกับ "ผลกระทบอย่างหนัก" ต่อกระบวนการพิจารณาวีซ่าอันเป็นผลมาจากการระบาดใญ่ของโควิด-19

ช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนมากต้องพิจารณาคำร้องขอยกเว้นเดินทางเข้า-ออกจากออสเตรเลียในช่วงที่มีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ตลอดจนอนุมัติการเดินทางขาเข้าและขาออกนอกประเทศ

“กรมจะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่าการพิจารณาวีซ่าที่คั่งค้างอยู่จะดำเนินการภายในเวลาที่เหมาะสมที่สุด” โฆษก กล่าว

แต่อดีตรองเลขาธิการกรมตรวจคนเข้าเมือง คือนายอะบูล ริซวี ประเมินความท้าทายเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา

“เรามีสถานการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยและระบบวีซ่าอยู่ในภาวะติดขัดอย่างที่สุด” นายริซวี กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์

“มีอีกมากที่ต้องแก้ไขและนั่นจะใช้เวลา”

ความต้องการวีซ่าลูกจ้างทักษะ

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เขย่าโครงการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลีย โดยประสบภาวะจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานที่เดินทางเข้ามาติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

แม้การเปิดพรมแดนของออสเตรเลียอีกครั้งกำลังช่วยให้ฟื้นตัว แต่ผลกระทบยังคงมีอยู่ โดยธุรกิจต่างๆ โอดครวญว่า กำลังมีภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะในวงกว้าง

นายแอนดรูว์ แมคเคลลาร์ ประธานกรรมการบริหารของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ธุรกิจต่างๆ กำลังแจ้งเข้ามาถึง “อุปสรรคสำคัญ” ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ

“ปัญหาการขาดแคลนทักษะในวงกว้างยังคงเป็นความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดที่ธุรกิจต้องเผชิญ ซึ่งจำกัดความสามารถของธุรกิจที่จะดำเนินงานได้อย่างเต็มศักยภาพ” นาย แมคเคลลาร์ กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

เขาอ้างถึง "ระยะเวลาที่ยืดเยื้อในการพิจารณาวีซ่า ค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป ความสับสนในมาตรการที่ต้องปฏิบัติตาม และการทดสอบตลาดแรงงานแบบภาคบังคับ" ว่าเป็นความท้าทายสำหรับนายจ้าง

โฆษกกระทรวงกล่าวว่า "กระทรวงกำลังดำเนินการประเมินลำดับความสำคัญของวีซ่าต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ"

บริดจิงวีซ่าที่คั่งค้างอยู่

ความกดดันต่อทรัพยากรของกระทรวงมหาดไทยยังได้ส่งผลให้ผู้คนราว 367,000 คนกำลังอาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยบริดจิงวีซ่า (bridging visa)

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 180,000 คนในเดือนมิถุนายน 2019 ตามข้อมูลของรัฐบาล

กระทรวงมหาดไทยได้ชี้ว่า สาเหตุมาจากจำนวนผู้คนมากขึ้นที่ไม่สามารถเดินทางออกจากออสเตรเลียได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางเพราะโควิด-19

นายริซวี กล่าวว่า ต้องมีการแก้ไขการพิจารณาวีซ่าที่คั่งค้างอยู่ในระบบ

“สถานการณ์เกี่ยวกับบริดจิงวีซ่าโดยรวมนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เรื่องวีซ่ากำลังอยู่ในภาวะติดขัดเพียงใด” เขากล่าว

“มีบางอย่างที่ต้องทำเพื่อสะสาง แต่วีซ่าที่คั่งค้างในมือประกอบด้วยผู้คนที่ยื่นขอวีซ่าประเภทต่างๆ กัน ดังนั้นจึงไม่มีมาตรการเดียวที่จะแก้ไขได้”

การยื่นขอวีซ่านักเรียน

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากนักศึกษาต่างชาติเกี่ยวกับการเผชิญกับความล่าช้าอย่างต่อเนื่องกว่าจะรู้ผลการยื่นขอวีซ่าเพื่อมาศึกษาเล่าเรียนในออสเตรเลีย

ปัญหาเรื่องนี้เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนสองปีเนื่องจากการระบาดใหญ่ของ โควิด-19

นายออสการ์ ซี เชา ออง (Oscar Zhi Shao Ong) ประธานสภานักเรียนต่างชาติของออสเตรเลีย กล่าวว่า นักเรียนบางคนกำลังเผชิญกับการรอคอยที่ยาวนาน “อย่างมีนัยสำคัญ” ในการพิจารณาวีซ่า

“เราได้ยินมาว่านักเรียนจำนวนมากขึ้นๆ รอวีซ่าเป็นเวลานาน” นายออง กล่าว

มีผู้ยื่นขอวีซ่านักเรียนมากกว่า 52,000 คนที่ยื่นใบสมัครแล้วในต่างประเทศ และราว 76,400 คนจากการยื่นขอวีซ่าในประเทศ ณ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามสถิติอย่างเป็นทางการ

ราวร้อยละ 76 ของใบสมัครในต่างประเทศมีอายุน้อยกว่า 2 เดือน โดยราวร้อยละ 2 ของใบสมัครในระบบทั้งหมดมีอายุมากกว่า 18 เดือน

องค์กรยูนิเวอร์ซิตี ออสเตรเลีย (Universities Australia) ซึ่งเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในออสเตรเลีย ได้สนับสนุนเสียงเรียกให้การปรับปรุงการพิจารณาวีซ่า

“ทุกสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการพิจารณาวีซ่านั้นตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ และเข้มงวด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการให้ความแน่นอนและความมั่นใจแก่นักเรียนในต่างประเทศ” โฆษกกล่าวกระทรวงระบุว่าได้ออกวีซ่าไปแล้วกว่า 1,301,000 วีซ่านับตั้งแต่ที่เดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งพรมแดนของออสเตรเลียได้เปิดอีกครั้งสำหรับนักเดินทางที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้ว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 June 2022 12:29pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News

Share this with family and friends