รู้ทันกลโกงการหลอกลวงเรื่องวีซ่า

SBS Thai Exclusive: จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณกำลังถูกหลอกเรื่องวีซ่ามาทำงานและอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย และจะทำอย่างไรให้ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ที่หากินกับความฝันของผู้ที่อยากมาทำงานและอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เอสบีเอส ไทย มีคำแนะนำง่ายๆ ที่คุณต้องรู้ก่อนจ่ายเงินให้ใครไปยื่นวีซ่าแทนคุณ

 Visa

Image for representation only Source: SBS

มีคนไทยไม่น้อยที่ต้องการมาใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลีย มาทำงาน หรือติดตามครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่นี่ แต่มีบ่อยครั้งเช่นกันที่เราได้ข่าวเกี่ยวกับการต้มตุ๋นหลอกลวง โดยมิจฉาชีพหรือเอเจนต์เถื่อน ที่ขายฝันให้แก่ผู้คนที่อยากมาทำงานหรือมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินจำนวนมากให้เพื่อทำวีซ่า แต่สุดท้ายวีซ่าที่บอกว่าจะได้ก็ไม่ได้ แล้วมิจฉาชีพเหล่านั้นก็หายเข้ากลีบเมฆไป พร้อมกับเงินก้อนโตที่เหยื่อหามาได้อย่างยากลำบาก

เอสบีเอส ไทย ได้รวบรวมคำเตือนที่ทุกคนควรรู้เพื่อหลีกเลี่ยง การตกเป็นเหยื่อของเอเจนต์เถื่อน หรือผู้ที่อ้างตัวว่าสามารถขอวีซ่าออสเตรเลีย ให้คุณได้มาทำงานและอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างง่ายดาย เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลา และเสียประวัติไป เพราะหลงคำลวงของมิจฉาชีพที่หากินกับความฝันของผู้คนเหล่านี้

ทั้งนี้ ข้อมูลที่เอสบีเอส ไทย นำเสนอนั้น ประมวลมาจากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย (Department of Home Affairs) ข้อมูลจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) คำเตือนจากเว็บไซต์เพื่อเปรียบเทียบบริการต่างๆ สำหรับผู้บริโภค finder.com.au และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านวีซ่าและกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองในออสเตรเลีย คือคุณจอย ไทยโพธิ์ศรี (หรือที่รู้จักในนามคุณจอย สเตลล่า) และคุณกนกวรรณ ศุโภทยาน

สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังถูกหลอก

สิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ คือสิ่งที่มิจฉาชีพ หรือเอเจนต์ดำเนินการด้านวีซ่าเถื่อนมักทำกัน หากคุณสังเกตเห็นพฤติกรรมต่อไปนี้ของผู้ที่รับดำเนินการด้านวีซ่าให้คุณ ขอให้ตระหนักว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเสียแล้ว

  1. มีแค่ชื่อเล่นและเบอร์โทรศัพท์มือถือ คุณไม่รู้ชื่อจริงและนามสกุลของของผู้รับยื่นวีซ่าให้คุณ หรือคุณรู้จักเพียงนามแฝงที่ตั้งขึ้นสำหรับเฟซบุ๊ก หรือสำหรับไลน์ โดยที่ ไม่มีการให้นามบัตร ไม่ระบุชื่อและนามสกุลจริง

  2. พบกันนอกสำนักงาน ผู้รับยื่นขอวีซ่า ขอพบกับคุณตามสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สำนักงานของตน หรือไม่เคยแจ้งให้คุณทราบว่าสำนักงานของตนตั้งอยู่ที่ใด

  3. มีเงินเท่านั้นพอ ผู้รับยื่นวีซ่าบอกคุณว่า ขอแค่ให้คุณมีเงินเท่านั้น ก็จะได้รับวีซ่าออสเตรเลีย หรืออยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียได้ โดยไม่ขอเอกสารอื่นใดประกอบการสมัครวีซ่า เช่น ผลการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ หลักฐานด้านประสบการณ์การทำงาน วุฒิการศึกษา และผลการตรวจร่างกาย

  4. ใช้เอกสารปลอม ผู้รับยื่นวีซ่า ทำเอกสารปลอมหรือรูปถ่ายปลอม เพื่อประกอบการสมัครขอวีซ่าให้คุณ

  5. วีซ่าท่องเที่ยวก็ทำงานได้ ผู้รับยื่นวีซ่า บอกคุณว่า วีซ่าท่องเที่ยว จะทำให้คุณสามารถทำงานในออสเตรเลียได้

  6. ได้เป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลีย ผู้รับยื่นวีซ่า รับประกันว่า คุณจะสามารถอาศัยอยู่ถาวรได้ในออสเตรเลีย หากจ่ายเงินให้ตน

  7. ขอให้จ่ายเงินสด ผู้รับยื่นวีซ่าขอให้คุณจ่ายค่าวีซ่าและค่าดำเนินการเป็นเงินสด โดยไม่มีการเซ็นต์สัญญา หรือไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้คุณเก็บไว้เป็นหลักฐาน

  8. เรียกเก็บค่าบริการเป็นเงินจำนวนมาก ผู้รับยื่นวีซ่าเรียกเก็บค่าวีซ่าและค่าดำเนินการเป็นจำนวนเงินที่สูงอย่างมาก เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย (Department of Home Affairs)

หากผู้ที่รับยื่นวีซ่าให้คุณมีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ขอให้คุณรีบแจ้งกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ สังกัดกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย และควรรายงานกับ SCAMwatch ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) เพื่อเตือนไม่ให้ประชาชนทั่วไปตกเป็นเหยื่อ

หากคุณอยู่ในประเทศไทย นอกจากจะแจ้งกรณีเหล่านี้กับสถานทูตออสเตรเลียแล้ว คุณควรแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศไทยด้วย
 visa
คุณควรต้องตรวจสอบผู้ดำเนินการด้านวีซ่าให้คุณอย่างละเอียด ก่อนจ่ายเงิน เพื่อจะได้ไม่ถูกหลอกให้สูญเงินไปเปล่า (Getty images) Source: Getty Images

การป้องกันไม่ให้ถูกเอเจนต์เถื่อนหลอก

  1. ใช้บริการตัวแทนที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ในประเทศออสเตรเลียนั้น ผู้ที่จะเป็นตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่าและการย้ายถิ่นฐานให้แก่บุคคลอื่นได้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับ Office of the Migration Agents Registration Authority หรือ OMARA เท่านั้น หากไม่ได้ขึ้นทะเบียนแต่รับดำเนินการด้านวีซ่าเพื่อแลกกับค่าตอบแทน เป็นความผิดตามกฎหมายของออสเตรเลีย

  2. ตรวจสอบหมายเลข MARN คุณจอย ไทยโพธิ์ศรี (หรือคุณจอย สเตลล่า) ผู้เชี่ยวชาญด้านวีซ่า บอกกับเอสบีเอส ไทย ว่าผู้ใช้บริการ จะต้องขอชื่อ นามสกุล และหมายเลขการจดทะเบียนเป็นตัวแทนดำเนินการด้านวีซ่า หรือที่เรียกว่า MARN (Migration Agents Registration Number) และนำข้อมูลเหล่านี้ไปค้นหาว่า บุคคลนั้นได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนดำเนินการจริงหรือไม่ ที่เว็บไซต์ของ OMARA

  3. ตรวจสอบชื่อเสียงของผู้รับยื่นวีซ่า สำหรับในต่างประเทศนั้น รัฐบาลไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่รับดำเนินการด้านวีซ่าให้แก่ผู้สมัครขอวีซ่าออสเตรเลียต้องขึ้นทะเบียนกับ OMARA แต่ผู้ใช้บริการจะต้องตรวจสอบชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือบุคคลที่เสนอตัวดำเนินการยื่นขอวีซ่าให้คุณ โดยคุณต้องขอชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หรือที่ตั้งสำนักงานของบุคคลนั้น เพื่อทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถืออย่างถี่ถ้วน

  4. รู้ชื่อวีซ่าที่ผู้รับยื่นวีซ่าจะสมัครให้คุณ คุณกนกวรรณ ศุโภทยาน ทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมืองในออสเตรเลีย ย้ำว่า คุณต้องสอบถามถึงชื่อเต็มๆ ของวีซ่า และซับคลาสของวีซ่า ที่ผู้รับยื่นวีซ่าจะสมัครให้คุณ อาทิ วีซ่าท่องเที่ยวและทำงาน (Working Holiday) ซับคลาส 462, วีซ่าท่องเที่ยว ซับคลาส 600 วีซ่าทำงานชั่วคราวสำหรับผู้มีทักษะอาชีพที่ขาดแคลนในออสเตรเลีย ซับคลาส 482 จากนั้นให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปค้นหาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ สังกัดกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย หากพบว่าคุณต้องใช้หลักฐานหลายอย่างในการสมัครวีซ่า แต่ผู้รับยื่นวีซ่าไม่ขอหลักฐานประกอบการยื่นวีซ่า แต่ขอเพียงเงินจากคุณเท่านั้น ขอให้ตระหนักไว้ว่าคุณกำลังถูกหลอก

  5. อย่าจ่ายเงินสด คุณจอย ไทยโพธิ์ศรี แนะนำว่า เมื่อจ่ายเงินค่าบริการ ขอให้มีหลักฐานว่าคุณจ่ายเงินให้ใครไป ขอใบเสร็จรับเงินที่ระบุตัวตนของผู้รับยื่นวีซ่านั้นอย่างชัดเจน และถ้าเป็นไปได้ควรจ่ายเงินด้วยการโอนผ่านบัญชีธนาคาร หากพบว่ามีปัญหา คุณจะได้สามารถติดตามเงินคืนได้ นอกจากนี้ คุณควรให้ผู้รับยื่นวีซ่า พาคุณไปยังสำนักงานที่บุคคลนั้นอ้างว่าทำงานอยู่ อย่าจ่ายเงินนอกสถานที่ เพราะโอกาสที่จะสูญเงินไปมีค่อนข้างสูง

  6. อย่าให้เอกสารตัวจริงแก่ผู้รับยื่นวีซ่าเก็บไว้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ขอให้คุณหลีกเลี่ยงการให้เอกสารสำคัญแก่ผู้รับยื่นวีซ่าเก็บไว้ เนื่องจากหากบุคคลนั้นเป็นมิจฉาชีพ ก็อาจใช้ข้อมูลระบุอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของคุณไปในทางมิชอบได้

  7. อย่าให้หมายเลขบัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต และข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากมิจฉาชีพอาจใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อแอบอ้างนำข้อมูลส่วนบุคคลของคุณไปใช้ในทางทุจริต และอาจใช้เพื่อขโมยเงินในบัญชีของคุณได้

  8. ต้องหาข้อมูลและทำตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งคุณจอย ไทยโพธิ์ศรี และคุณกนกวรรณ ศุโภทยาน ผู้เชี่ยวชาญด้านวีซ่าและการตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย ย้ำอย่างยิ่งว่า เราต้องหาข้อมูลอย่างละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจ่ายเงินให้แก่ผู้รับยื่นวีซ่า เพราะหากเราสะเพร่าไม่ตรวจสอบข้อมูลแล้ว นอกจากจะสูญเงินจำนวนมากไปฟรีๆ เราอาจลงเอยด้วยการอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย และจะมีผลต่อประวัติในการยื่นขอวีซ่าออสเตรเลีย หรือการยื่นขอวีซ่าไปประเทศอื่นๆ ของเราในอนาคตด้วย

สิ่งสำคัญที่คุณควรถือเป็นคติประจำใจ ที่จะช่วยให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนั้น มีหลักสั้นๆ จำง่ายๆ ได้แก่ อย่าเชื่อคนง่าย อย่าโลภ และให้ตรวจสอบข้อมูลให้ดี ก่อนจ่ายเงิน เพราะไม่เพียงแค่คุณอาจต้องเสียเงินจำนวนมากไปฟรีเท่านั้น แต่คุณอาจลงเอยด้วยการอยู่แบบผิดกฎหมายเป็นผีไม่มีวีซ่าในออสเตรเลีย ถูกคนใจทรามข่มเหง โขกสับ และถ้าโชคดี ก็อาจถูกทางการออสเตรเลียส่งเข้าสถานกักกัน และถูกเนรเทศกลับประเทศไทย พร้อมกับถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศออสเตรเลียอีกเป็นเวลานานหลายปีด้วย

หมายเหตุ: "ตัวแทนการศึกษาไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการยกเว้นและไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องการย้ายถิ่นฐานในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฎหมาย ยกเว้นในกรณีที่พวกเขาเป็นตัวแทนการย้ายถิ่นฐานที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือเป็น ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายด้วย" นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงสิ่งที่ตัวแทนด้านการศึกษาสามารถทำได้และย้ำว่าตามกฎหมายแล้วตัวแทนด้านการศึกษาไม่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านการย้ายถิ่นฐานได้

หากคุณต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าออสเตรเลีย หรือการทำงานในออสเตรเลีย หรือแจ้งการหลอกลวงด้านวีซ่า ให้ไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติ สังกัดกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ที่

คุณสามารถตรวจสอบหมายเลขจดทะเบียนของตัวแทนรับดำเนินการด้านวีซ่า ไปที่เว็บไซต์ของ Office of the Migration Agents Registration Authority หรือ OMARA ที่

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 3 December 2018 4:04pm
Updated 5 October 2021 10:31am
By Parisuth Sodsai


Share this with family and friends