โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหล่านี้กำลังเพิ่มขึ้นในออสเตรเลีย นี่คืออาการที่คุณต้องระวัง

สถิติชี้ถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการติดเชื้อหนองในเทียมและหนองใน โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ‘มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน’ ที่จะต้องปรับปรงการให้การศึกษาด้านสุขภาพทางเพศ

A male doctor gives test results to a patient

ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการปรับปรุงเรื่องการให้การศึกษาด้านสุขภาพทางเพศและการตรวจเชื้อ หลังพบอัตราการติดเชื้อหนองในเทียมและหนองในเพิ่มสูงขึ้นมาก Source: Getty / MTStock Studio

การติดเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia) และหนองใน (Gonorrhoea) ได้พุ่งสูงขึ้นในออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงด้านการให้ความรู้และความตระหนักในเรื่องนี้ในหมู่ประชาชน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจากระบบเฝ้าระวังโรคที่ต้องแจ้งเตือนแห่งชาติ (NNDSS) พบว่ามีผู้ติดเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia) ที่ได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2021-2023

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มขึ้นจาก 66,814 ราย เป็น 82,559 ราย

การติดเชื้อโรคหนองใน (Gonorrhoea) เพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 30,112 รายในปี 2023 เทียบกับ 20,699 รายในปี 2021

การติดเชื้อนี้พบบ่อยที่สุดในหมู่คนหนุ่มสาว โดยกลุ่มคนอายุ 15-29 ปีคิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์จำนวนผู้ติดเชื้อติดเชื้อหนองในเทียมทั้งหมด และ 50 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อหนองในทั้งหมดในปี 2023

รองศาสตราจารย์ เคตลิน คีห์ลีย์ ตัวแทนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจจากองค์กรสร้างความตระหนักด้านจุลชีววิทยาและพยาธิวิทยาแห่งออสเตรเลีย (Microbiologist and Pathology Awareness Australia) กล่าวว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการให้ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศในออสเตรเลีย

เธอกล่าวว่าข้อมูลล่าสุดเผยให้เห็นถึง "ความจำเป็นเร่งด่วน" ที่จะต้องปรับปรุงเรื่องความตระหนักรู้และการตรวจเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการระบาดใหญ่โควิด-19

“เราขาดการให้ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด เนื่องจากความยากลำบากในการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพทางออนไลน์” รศ. คีห์ลีย์ กล่าว

“นอกจากนี้ การไปพบแพทย์จีพีได้ลดลง ซึ่งส่งผลให้มีการติดเชื้อที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค ดังนั้นจึงมีการแพร่เชื้อ และโดยรวมแล้วมีความระมัดระวังหรือความวิตกเกี่ยวกับการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลง”
Chlamydia test
จำนวนผู้ติดเชื้อหนองในเทียมที่ได้รับการยืนยันแล้วเพิ่มขึ้นจาก 66,814 รายในปี 2021 เป็น 82,559 ราย ในปี 2023 Source: Getty / Rodolfo Parulan Jr

หนองในเทียมคืออะไร และมีอาการอย่างไร?

หนองในเทียม (Chlamydia) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อย (STI) และเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลามีเดีย แทรโคมาทิส (Chlamydia trachomatis)

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุ โรคหนองในเทียมจะไม่แสดงอาการในผู้หญิงอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์

เมื่อมีอาการในผู้หญิง อาการของโรคอาจรวมถึง การเจ็บปวดเมื่อถ่ายปัสสาวะ มีตกขาวที่ผิดปกติหรือมีเลือดออก และรู้สึกเจ็บระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้ออาจลุกลามไปถึงท่อนำไข่ ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบและเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน

ในผู้ชาย อาการอาจรวมถึงการมีของเหลวใสหรือ "คล้ายน้ำนม" ไหลออกจากอวัยวะเพศชาย มีรอยแดงที่ปลายอวัยวะเพศชาย แสบร้อนหรือแสบเมื่อปัสสาวะ หรือปวดและบวมที่อัณฑะ

หนองในเทียมยังสามารถเกิดการติดเชื้อได้ที่ทวารหนัก คอ และดวงตา

หนองในคืออะไร และมีอาการอย่างไร?

โรคหนองใน (Gonorrhoea) เกิดจากเชื้อไนซีเรียโกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) และคล้ายกันกับโรคหนองในเทียมคือ อาจไม่แสดงอาการเสมอไป

เมื่อมีอาการ โรคหนองในสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิง โดยมีอาการเจ็บคอ คอแห้ง ตกขาวผิดปกติ ปวดอุ้งเชิงกราน หรือปัสสาวะลำบาก

ผู้หญิงที่ติดเชื้อหนองในที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเผชิญโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบและอาการปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง และในการตั้งครรภ์ การติดเชื้อเชื้อหนองในอาจทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์และทารกแรกเกิดได้

ในผู้ชาย อาการอาจรวมถึงตกขาวหรือเหลืองจากอวัยวะเพศชายหรือทวารหนัก ปวดหรือไม่สบายขณะปัสสาวะ ปวดอัณฑะ มีรอยแดงบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย หรือเจ็บคอแห้ง

การให้ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศและการตรวจเชื้อ ต้องได้รับการปรับปรุง 'เร่งด่วน'

รศ. คีห์ลีย์ กล่าวว่า เธอเป็นห่วงที่คนหนุ่มสาวอาจไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพทางเพศอย่างจริงจัง และเชื่อว่าพวกเขาอาจไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เหมาะสม

เธอเรียกร้องให้การให้การศึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศเป็นวาระสำคัญอันดับต้น ๆ ในโรงเรียน สถานดูแลสุขภาพ และโครงการชุมชน

คุณ ลิซ่า แฮร์ริสัน ผู้อำนวยการฝ่ายบริการพยาบาลและสุขภาพ และเป็นพยาบาลของ ทรู (True) องค์กรด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ กล่าวว่า พ่อแม่ ผู้ดูแล และนักการศึกษา มีหน้าที่ให้ความรู้แก่เยาวชนและคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ

“โครงการที่ให้ความรู้ในโรงเรียนต่าง ๆ ให้โอกาสมากที่สุดในการเพิ่มความตระหนักรู้ในคนหนุ่มสาว รวมทั้งให้ประสบการณ์ในการตรวจเชื้อ ... ผลกระทบที่มากที่สุดจะมาจากการตรวจเชื้อและการรักษาผู้ติดเชื้อจำนวนมากในเวลาเดียวกัน” คุณ แฮร์ริสัน กล่าว

“พ่อแม่และผู้ดูแลมีความรับผิดชอบ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่น แพทย์ ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการสนับสนุนคนหนุ่มสาว ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 21 November 2023 10:39am
By Jessica Bahr
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends