ผู้เช่าถือวีซ่าชั่วคราวลำบากหนักหลังถูกไล่ที่เพิ่มขึ้นช่วงโควิด

มีความกังวลว่า ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวขาดรายได้ท่ามกลางวิกฤตโควิดอาจต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อหาที่อยู่ใหม่ หลังผู้ปล่อยเช่าเตรียมขับไล่ผู้เช่าอาศัยที่มีปัญหาเรื่องรายได้ ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้เช่าใกล้สิ้นสุด และเงินสวัสดิการกำลังจะลดลง

Eviction notice letter posted on front door of house

Eviction notice letter posted on front door of house Source: Getty Images

คุณเคย์ลีย์ ไกรซ์ (Kayleigh Grice) แม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งได้ถูกข่มขู่ว่าจะถูกขับไล่ออกจากที่พักอาศัย หลังตกงานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 

“สิ่งหลัก ๆ ที่ฉันกังวลก็คือการทำให้แน่ใจว่าเรามีเงินและอาหารอย่างเพียงพอ” เธอกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

หญิงวัย 33 ปี จากเมืองลิเวอร์พูลในประเทศอังกฤษ พร้อมลูกชายวัย 14 ปี ได้อาศัยอยู่ในเมลเบิร์นเป็นเวลา 3 ปี และเนื่องจากเธอเป็นนักศึกษาต่างชาติ จึงไม่มีคุณสมบัติในการรับเงินสวัสดิการจากรัฐบาลกลางได้

“ฉันจ่ายค่าเช่าไม่ได้ ฉันทำไม่ได้จริง ๆ ฉันไม่มีเงินพอ ฉันต้องพึ่งพาครอบครัว เพื่อน ๆ และมูลนิธิให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ” เธอเล่า

การเจรจากับผู้ปล่อยเช่าที่พักอาศัยของเธอนั้น ได้ยืดยาวจนต้องกลายเป็นคดีความในศาลตุลาการพลเรือนและการบริหารแห่งรัฐวิกตอเรีย (VCAT) ซึ่งได้ตัดสินว่าเธอสามารถอยู่ในที่พักอาศัยให้เช่านี้ต่อไปได้

นอกจากนี้ คุณไกรซ์ยังได้รับการยกเลิกหนี้เป็นจำนวนเงิน $12,000 ดอลลาร์
International student Kayleigh Grice has twice been threatened with eviction.
International student Kayleigh Grice has twice been threatened with eviction. Source: Supplied
เธอกล่าวว่า สหภาพผู้เช่าและที่พักอาศัย (Renters and Housing Union) ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการทำให้เธอมีที่พักอาศัยจนถึงขณะนี้ โดยองค์กรที่ดำเนินการโดยอาสาสมัครแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นในรัฐวิกตอเรีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“เราได้ช่วยเหลือผู้เช่านับร้อยรายเพื่อให้ได้รับการลดค่าเช่า แทนที่จะเป็นการเลื่อนชำระหนี้ หรือการสิ้นสุดสัญญาเช่า” นางไอรีน โซลิดิส นอยซ์ (Eirene Tsolidis Noyce) เลขาธิการสหภาพผู้เช่าและที่พักอาศัย กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ 

“หนี้สินประเภทนี้ไม่สามารถที่จะชำระได้ทั้งหมด และการทวงถามหนี้ในส่วนนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เมื่อผู้คนไม่มีรายได้ ผู้ปล่อยให้เช่าและตัวแทนอสังหาฯ​ จะต้องเข้าใจว่ามันมีเงินพอสำหรับสิ่งนั้น”

แม้องค์กรดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือผู้ถือวีซ่าชั่วคราวได้เป็นส่วนมาก แต่คุณโซลิดิสกล่าวว่า ความเครียดในการเช่าที่พักอาศัยนั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วออสเตรเลีย   

“จาก 30% ของประชากรในออสเตรเลียที่เช่าที่พักอาศัยนั้น พบว่ามี 40% ที่ต้องจ่ายเงินจากรายได้ที่มีมากกว่า 50% ไปเป็นค่าเช่าที่พักอาศัย และมีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ระดับต่ำ”

ที่รัฐวิกตอเรีย ได้มีการขยายเวลาของคำสั่งห้ามขับไล่ผู้เช่าที่พักอาศัยออกไปจนถึงเดือนมีนาคม 2021 โดยมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ปล่อยเช่นที่ต้องการขาย หรือหากสมาชิกครอบครัวของผู้ปล่อยเช่ามีความจำเป็นที่จะต้องย้ายเข้ามาพักอาศัย

โดยผู้ปล่อยเช่าสามารถเข้าถึงการเลื่อนชำระเงินจำนอง (mortgage deferrals) ส่วนผู้เช่าที่ได้รับการลดค่าเช่าลงตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปนั้น จะสามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยาผู้เช่าและภาษีที่ดินได้

คุณมาร์ตินา พีทอตที (Martina Pitotti) และคุณเอรอส เลโปรี (Eros Lepori) จากกรุงโรม ประเทศอิตาลี กำลังเริ่มมองหาบ้านเช่าหลังใหม่ หลังผู้ปล่อยให้เช่าตัดสินใจที่จะประกาศขาย

“มันกลายเป็นเรื่องเครียดมาก เพราะเรามีหลายเรื่องที่ต้องคิด และเอรอสก็ตกงานด้วย” คุณพีทอตที กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

ขณะที่ศาลตุลาการพลเรือนและการบริหารแห่งรัฐวิกตอเรีย (VCAT) ได้พบว่า สัญญาเช่าควรได้รับการยกเลิกในกรณีดังกล่าว แต่เนื่องจากความช่วยเหลือของสหภาพฯ และการเจรจากับผู้ปล่อยให้เช่า ทำให้ค่าเช่าที่ได้รับการเลื่อนชำระไปก่อนหน้านี้เกือบ $8,000 ดอลลาร์ กำลังจะได้รับการยกเว้น

“เรารู้สึกว่าเรามีเหตุผลใหม่ในการที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง” คุณพีตอทที กล่าว

มีความกังวลว่า จะมีการขับไล่ผู้เช่าออกจากที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น ชณะที่ความเครียดในการเช่าที่พักอาศัยจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเมื่อมาตรการห้ามขับไล่ผู้เช่าพักอาศัยนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มาตรการพักชำระเงินจำนองบ้านสิ้นสุดลง รวมถึงการลดอัตราจ่ายเงินสนับสนุนค่าจ้างจ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) และเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker)

ขณะที่ยังคงมีการการออกหนังสือแจ้งให้ย้ายออก แม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะไม่มีผลในขณะนี้ แต่ก็ได้มีการระบุวันที่ต้องย้ายออก 1 วันหลังจากมาตรการห้ามขับไล่ผู้เช่าพักอาศัยสิ้นสุดลง

“เราต้องการแนวทางในระยะยาวกว่านี้ในการแก้ปัญหาในวิกฤตดังกล่าว” คุณโซลิดิส กล่าว


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 29 October 2020 1:03pm
Updated 29 October 2020 1:32pm
By Catalina Florez
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends