ฟาร์มจิ้งหรีดไอเดียสาวไทยทั้งเลี้ยงทั้งขายในออสเตรเลีย

สาวไทยเปิดฟาร์มจิ้งหรีดชื่อ Crickets r Us ในชนบทของรัฐวิกตอเรีย ผลิตจิ้งหรีดส่งขายให้ลูกค้าทั่วประเทศออสเตรเลีย ที่ติดใจรสอร่อยของแมลงตัวน้อยที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีเหล่านี้

คุณ พรทิพย์ ชื่นชอบ สาวไทยเปิดฟาร์มจิ้งหรีด ที่แทบจะไม่มีใครทำในออสเตรเลีย

คุณ พรทิพย์ ชื่นชอบ สาวไทยเปิดฟาร์มจิ้งหรีด ที่แทบจะไม่มีใครทำในออสเตรเลีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat

ฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ ที่แทบจะหาไม่มีใครเปิดเป็นธุรกิจในออสเตรเลีย ถูกตั้งขึ้นโดยคุณพรทิพย์ ชื่นชอบ หรือคุณทิพย์ สาวไทยที่อาศัยอยู่ในสแตนโฮป (Stanhope) เมืองชนบทเล็กๆ เงียบๆ ในรัฐวิกตอเรีย

“เขาแปลกใจกันมากๆ เลย ตอนแรกๆ ที่ทำ เขาถามว่าทำอะไร ก็ตอบว่าทำฟาร์มจิ้งหรีด ไม่มีใครเชื่อ ถ้าบอกว่า เอามาจากเมืองไทย ถึงจะมีคนเชื่อ แต่ตอนนี้ ก็มีคนเชื่อเยอะแล้ว” คุณพรทิพย์ กล่าว

ขณะที่คุณสตีเฟน สเตบบิง สามีคุณพรทิพย์ เล่าว่า “ลูกค้าคนไทยบางคนก็ยังไม่รู้ว่า ทิพย์เลี้ยงจิ้งหรีดในออสเตรเลียนี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย”

คุณพรทิพย์ มีแนวคิดทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารมนุษย์เมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อย้ายมาอยู่ในออสเตรเลียใหม่ๆ “เกิดอยากกินจิ้งหรีด วันหนึ่งเห็นจิ้งหรีดกระโดดเข้ามาในบ้าน จึงคิดอยากลองเลี้ยง และไปศึกษาหาข้อมูลดูจากเว็บไซต์บ้าง จากยูทูบบ้าง”
จิ้งหรีดในกล่องเลี้ยงในฟาร์มของคุณพรทิพย์ ชื่นชอบ
จิ้งหรีดในกล่องเลี้ยงในฟาร์มของคุณพรทิพย์ ชื่นชอบ Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
จากนั้นคุณพรทิพย์และสามี ได้ไปซื้อจิ้งหรีดสายพันธุ์พื้นเมืองของออสเตรเลีย ที่ปกติแล้วถูกจำหน่ายเป็นอาหารสำหรับสัตว์เลื้อยคลาน โดยซื้อมาจากร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย จากจิ้งหรีดเหล่านั้นไม่กี่ตัว กลายเป็นจิ้งหรีดจำนวนมากมายหลายหมื่นตัวเต็มกล่องเลี้ยง 60 กล่องทุกวันนี้

“อยู่เมืองไทยก็ไม่เคยเลี้ยงจิ้งหรีดเลย เพิ่งเคยเลี้ยงเป็นครั้งแรกที่ออสเตรเลีย เริ่มศึกษา เพราะอยากรู้ ก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้” คุณพรทิพย์ เล่า

“ตอนแรก ก็เอาจิ้งหรีดมาใส่กล่องพลาสติก แล้วก็เลี้ยงเขา ดูว่าเขาจะอยู่ในอุณหภูมิแบบไหน ร้อนขนาดไหน เขาจะไข่ยังไง ก็เริ่มมาเรื่อยๆ ศึกษามาเรื่อยๆ สัก 1 ปี เลยเริ่มขาย จากออร์เดอร์มาทีละ 1-2 กิโล จากนั้นก็มีออร์เดอร์มาเรื่อยๆ จึงคิดขยายเปิดเป็นฟาร์มทุกวันนี้”

คุณพรทิพย์ กล่าวว่า กว่าจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงจิ้งหรีดจนส่งขายได้ในออสเตรเลียนั้นไม่ง่าย

“มันยาก แล้วเราต้องอยู่ในความร้อนตลอดทั้งวัน บางทีเลี้ยงไม่ได้ มันก็ตาย เราก็ต้องมาเริ่มใหม่ ต้องมาศึกษาใหม่ แต่เพราะมีความอยากเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ เลยพยายามเลี้ยงมา ซึ่งบอกเลยว่ายาก ถ้าใจไม่อยู่ตรงนี้ ก็จะทำไม่ได้เลย”

ฟาร์มจิ้งหรีด Crickets r Us ตั้งอยู่ในพื้นที่สวนของบ้านคุณพรทิพย์ หากดูเผินๆ แล้ว แทบจะไม่รู้เลยว่ามีฟาร์มที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำตั้งอยู่ จิ้งหรีดถูกเลี้ยงในกล่องไม้ขนาดย่อมกว่า 60 กล่อง ที่เรียงรายกันอยู่บนชั้นวาง ในโรงเรือนเก็บเครื่องมือการเกษตรและในตู้คอนเทนเนอร์ ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงเลี้ยงจิ้งหรีด

เมื่อเปิดประตูเข้าไปในโรงเลี้ยง เราจะได้ยินเสียงจิ้งหรีดนับหมื่นๆ ที่ดังกังวานจากการที่จิ้งหรีดตัวผู้ใช้ปีกสีกันจนเกิดเสียง กล่องเลี้ยงแต่ละกล่องบรรจุจิ้งหรีดที่แบ่งเป็นวัยต่างๆ ตามอายุ
ภายในโรงเลี้ยงจิ้งหรีดในฟาร์ม Crickets r Us ที่มีจิ้งหรีดนับหมื่นตัวอาศัยอยู่ในกล่องไม้ที่วางเรียงราย
ภายในโรงเลี้ยงจิ้งหรีดในฟาร์ม Crickets r Us ที่มีจิ้งหรีดนับหมื่นตัวอาศัยอยู่ในกล่องไม้ที่วางเรียงราย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
แม้การเลี้ยงจิ้งหรีดจะใช้เนื้อที่ไม่มาก และจิ้งหรีดที่คุณพรทิพย์เลี้ยงกินหัวอาหารไก่ กินฟักทอง และดื่มน้ำวันละไม่มาก แต่มีปัจจัยสำคัญที่เป็นความท้าทายสำหรับทุกๆ ขั้นตอนการเลี้ยง

“สิ่งสำคัญที่สุดในการเลี้ยงจิ้งหรีดคือ อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม และต้องมีจำนวนจิ้งหรีดให้เหมาะกับขนาดของกล่องเลี้ยง นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ เพราะคุณอาจใช้เวลาเลี้ยงมันมา แต่ไม่ได้ผลผลิตมากตามที่ต้องการ ซึ่งเราใช้เวลากว่า 12 เดือนกว่าจะทำได้อย่างสมดุล” คุณสตีเฟน สามีคุณพรทิพย์อธิบาย

การที่จิ้งหรีดเป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่เปราะบาง ทำให้กระบวนการเลี้ยงดูและการจับเพื่อส่งขายยังคงต้องทำด้วยมือทุกอย่าง เป็นสาเหตุให้คุณพรทิพย์ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อดูแลจิ้งหรีดทุกวัน

“ถ้ามีออร์เดอร์เข้ามา ก็ตื่นประมาณตี 4 ตี 5 เริ่มแรกก็จะเก็บไข่จิ้งหรีดก่อน เปลี่ยนดินในกล่องเก็บไข่ แล้วทำความสะอาดหินในถาดให้น้ำจิ้งหรีด จากนั้นจะมาดูจิ้งหรีดที่เพิ่งเกิด เปลี่ยนกล่องที่ให้พวกมันอยู่ ทำความสะอาดข้างในกล่องเลี้ยง ก็ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงต่อวัน” นอกจากนั้น ยังต้องให้อาหาร ให้น้ำ และจับจิ้งหรีดที่ถึงวัยบริโภคได้ นำมานึ่งแล้วอบให้แห้งก่อนบรรจุถุงสุญญากาศ เพื่อส่งไปรษณีย์ให้แก่ลูกค้าตามสั่งอีกด้วย
จิ้งหรีดวัยออกไข่ถูกแบ่งให้อาศัยอยู่ในกล่องพลาสติก
จิ้งหรีดวัยออกไข่ถูกแบ่งให้อาศัยอยู่ในกล่องพลาสติก Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
ลูกค้าของคุณพรทิพย์ส่วนใหญ่เป็นคนไทยทั่วประเทศออสเตรเลีย ที่สั่งซื้อกันเข้ามาไม่ขาดสาย มีออร์เดอร์มาถึงคุณพรทิพย์สัปดาห์ละเป็นมากกว่า 50 กิโลกรัม แต่คุณพรทิพย์ผลิตได้ทันเพียงสัปดาห์ละ 50 กิโลกรัมเท่านั้น

คุณพรทิพย์ เล่าว่า ลูกค้าส่วนใหญ่นำจิ้งหรีดไปปรุงเป็นอาหารด้วยวิธีการง่ายๆ แต่ได้รสชาติที่อร่อย กรอบ มันถึงใจ

“ส่วนมากเขาจะเอาจิ้งหรีดไปทอด ทอดสมุนไพร หรือเอาไปคั่ว แต่จริงๆ สามารถเอาจิ้งหรีดไปทำได้หลายอย่าง ไปทำน้ำพริกก็ได้ หรือเอาไปแกงใส่หน่อไม้ อย่างหน่อไม้ส้มก็ได้”

แม้ผู้คนในบางประเทศมีการรับประทานจิ้งหรีดกันมาช้านาน เช่น ในประเทศไทย ในเม็กซิโก บราซิล สาธารณรัฐคองโก แคเมอรูน ยูกันดา ไนจีเรีย แต่สำหรับชาวตะวันตกและชาวออสเตรเลียทั่วไปแล้ว แม้จิ้งหรีดจะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และใช้ทรัพยากรไม่มากในการเลี้ยง เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงวัวเป็นอาหาร แต่คนส่วนใหญ่ที่นี่ ยังคงรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะรับประทานจิ้งหรีด
จิ้งหรีดทอดสมุนไพร อาหารที่ทำง่ายๆ แต่อร่อยจากรสชาติจิ้งหรีดที่กรอบมัน
จิ้งหรีดทอดสมุนไพร อาหารที่ทำง่ายๆ แต่อร่อยจากรสชาติจิ้งหรีดที่กรอบมัน Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
คุณสตีเฟน สามีของคุณพรทิพย์ ซึ่งจิ้งหรีดทอดแกล้มเบียร์กลายเป็นอาหารว่างที่เขาโปรดปราน ฝากบอกในเรื่องนี้ว่า

“ชาวตะวันตกเติบโตขึ้นมาด้วยการรับประทานเนื้อวัว แต่ตอนนี้ เราควรมองหาโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆ ด้วย จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารนั้นสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยกว่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงวัวเพื่อกินเนื้อ จึงอยากให้ผู้คนเปิดใจ และหันมาลองกินจิ้งหรีดดูบ้าง”

แม้อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ชาวออสเตรเลียทั่วไปจะหันมารับประทานจิ้งหรีด แต่สำหรับคุณพรทิพย์ ชื่นชอบ เจ้าของฟาร์ม Crickets r Us ในเมืองสแตนโฮป ในรัฐวิกตอเรียแห่งนี้ รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง และความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อของเธอ

“รู้สึกดีใจและภูมิใจ ที่เราได้เลี้ยงจิ้งหรีด และทำฟาร์มนี้ขึ้นมา ทำให้มีคนไทยมาซื้อ แล้วบอกว่าได้กินอาหารอร่อย ได้กินของแซ่บๆ ก็ดีใจ” คุณพรทิพย์ กล่าว
คุณพรทิพย์ ชื่นชอบ และคุณสตีเฟน สเตบบิง สามี อยู่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นโรงเลี้ยงจิ้งหรีด
คุณพรทิพย์ ชื่นชอบ และคุณสตีเฟน สเตบบิง สามี อยู่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นโรงเลี้ยงจิ้งหรีด Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
เธอจะยอมรับว่าตัวเองไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเก่ง แต่การก่อตั้งธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีด Crickets r Us ให้เป็นจริง ช่วยให้เธอมีทั้งงาน มีรายได้ และมีเพื่อนมากมายจากธุรกิจเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองชนบทของออสเตรเลียแห่งนี้

“เมืองที่อยู่นี่เงียบ ตอนแรกก็ไม่รู้จะไปไหน เพราะว่าไม่เก่งเรื่องภาษา แต่พอมาเลี้ยงจิ้งหรีด ก็ทำให้เราไม่นั่งว่างๆ มีงาน เริ่มมีเพื่อนมาคุย มีลูกค้าคนไทยมาคุยทางโทรศัพท์ เลยไม่เหงา”
ฟังการพูดคุยกับคุณพรทิพย์ ชื่นชอบ แบบเต็มๆ ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้

จิ้งหรีด: แหล่งรายได้แสนอร่อย

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 4 February 2020 3:09pm
Updated 2 March 2021 5:13pm
By Parisuth Sodsai
Presented by SBS Thai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends