ไทยจัดไพรด์พาเหรดในรอบหลายปี แต่เส้นทางสู่ความเท่าเทียมยังอีกยาวไกล

กลุ่มคนหลากเพศในไทยรวมตัวจัดพาเหรดรณรงค์ความเท่าเทียมครั้งแรกอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ แต่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่แท้จริงยังคงอีกยาวไกล

กลุ่มแดร็กควีนในงานนฤมิตไพรด์ 2022 ที่กรุงเทพมหานคร

5 มิ.ย.2022 กลุ่มแดร็กควีนในงานนฤมิตไพรด์ 2022 ที่กรุงเทพมหานคร Source: Getty, LightRocket/SOPA Images

วานนี้ (5 มิ.ย.) บรรยากาศในกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยสีสันและแสงสี จากกิจกรรมโดยชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้ออกมาเฉลิมฉลองโดยการเดินขบวน “ไพรด์พาเหรด” เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี แต่ผู้เข้ารวมงานหลายคนเตือนว่า ความเท่าเทียมที่แท้จริงในสังคมไทยนั้นยังอีกยาวไกล

งาน “นฤมิตไพรด์ 2022” จัดขึ้นในกรุงเทพ ฯ โดยกลุ่มพันธมิตรที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ให้การสนับสนุน

กลุ่มพันธมิตรและผู้คนจากทุกเพศสภาพ ศิลปินแต่งกายแบบแดร็ก กลุ่มคนทำงานบริการทางเพศ กลุ่มสตรีนิยม และแม้กระทั่งกลุ่มคนชื่นชอบการแต่งตัวแบบครึ่งคนครึ่งสัตว์ (เฟอร์รี่) ต่างมารวมตัวกันเพื่อเดินขบวนพาเหรดอย่างเป็นทางการบนถนนสายหลักของมหานครแห่งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549



“ฉันรู้สึกมีความสุข” จอห์นนี่ ภูริกร แดร็กควีนคนหนึ่ง กล่าวพร้อมรอยยิ้มบนริมฝีปากที่ทาด้วยลิปสติกสีแดง ในชุดเดรสปาดไหล่สีแดงฉูดฉาด

“ฉันรู้สึกยินดี และรู้สึกขอบคุณที่ได้มีโอกาสนี้” บุคคลวัย 31 ปีคนหนึ่งระบุ แต่ก็ได้กล่าวเสริมว่า ประเทศนี้จะต้องทำอะไรให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+)

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้มีชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศปรากฏอย่างชัดเจน แต่หลายคนยังพบเจอกับอุปสรรคและการเลือกปฏิบัติ ในราชอาณาจักรอนุรักษ์นิยมซึ่งนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่แห่งนี้

“ฉันไม่อยากให้ผู้คนคิดว่าเราแตกต่าง” เมษา เพ็ชรคราม (ป๊อป) ผู้เข้าแข่งขันเวทีประกวดความงามบุคคลข้ามเพศ “มิส ทิฟฟานี ยูนิเวิร์ส” กล่าว

“เราไม่ต้องการสิทธิ์ไปมากกว่าเพศสภาพอื่น ๆ เราเพียงต้องการสิทธิขั้นพื้นฐาน” คุณเมษา กล่าว พร้อมกับชี้ว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศยังพบกับการเลือกปฏิบัติอยู่ทุกวันอย่างไร

“ฉันหวังว่ากฎหมายสมรสเพศเดียวกันจะผ่าน นั่นก็เพื่อให้เรามีกฎหมายที่ปกป้องและลดความไม่เท่าเทียมทางเพศสภาพลง” คุณเมษา กล่าวเสริม พลางขยับมงกุฎสูงตระหง่านพร้อมกับย้ำประเด็น
นักเคลื่อนไหวสิทธิคนทำงานบริการทางเพศในงานนฤมิตไพรด์ 2022 ในกรุงเทพ
นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนทำงานบริการทางเพศในงานนฤมิตไพรด์ 2022 งานไพรด์พาเหรดในไทยครั้งแรกในรอบ 16 ปี Source: Getty, LightRocket/SOPA Images

สิทธิ์ที่จะมีรัก

สำหรับคู่ครองที่ได้หมั้นหมายกันอย่าง อันธิฌา แสงชัย และ วรวรรณ รามวรรณ คำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียมในการสมรสนั้นเข้ากับงานเป็นพิเศษ ทั้งคู่ปรากฏตัวในงานในชุดราตรีสีขาวสะดุดตาที่ได้รับความสนใจจากผู้คนในงาน และในโซเชียลมีเดียในเวลาต่อมา พร้อมจัดพิธีสมรสท่ามกลางขบวนพาเหรดในวันนั้น

“เพื่อน ๆ อันเป็นที่รักของฉันเดินไปพร้อมกัน และมอบช่วงเวลาพิเศษให้กับชีวิตของเรา” อันธิฌา กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี โดยระบุว่าประสบการณ์ท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมงานในวันนี้ “ถือเป็นเกียรติ”
ภาพผู้มาเดินขบวนในงานนฤมิตไพรด์ 2022 ในกรุงเทพ ใส่เดรสสีขาวพร้อมแถบผ้าสีรุ้งคล้ายกระโปรง
ไทยยังไม่ทำให้การสมรสเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย Source: Getty, LightRocket/SOPA Images
รัฐสภาของไทยยังไม่ทำให้การสมรสเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยได้ปัดตกข้อเสนอในการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน

“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสร้างครอบครัว มีความรัก และแต่งงานกับใครก็ได้ที่พวกเขารัก” อันธิฌา กล่าว

“ทำไมเราจึงทำสิ่งนั้นไม่ได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

รัฐบาลหนุน 'แฟร์เวิร์ก' ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคลายวิกฤตค่าครองชีพ


Share
Published 6 June 2022 5:24pm
Updated 8 June 2022 11:36am
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AFP, Reuters


Share this with family and friends