ออสปิดพรมแดนมีส่วนทำให้แม่มือใหม่ซึมเศร้า

Representational picture of grandparent and granddaughter

คุณยายและหลานสาว Source: pexels

นโยบายปิดพรมแดนของออสเตรเลียกลายเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในหมู่คุณแม่มือใหม่ ที่ต้องการการสนับสนุนจากบิดามารดาที่อยู่ต่างประเทศ คุณแม่หลายท่านร่วมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนางเจนนี่ มอร์ริสัน ภริยาของนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ถึงการเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของเธอได้ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว


เมื่อนางอเล็กซานดรา ปาร์กเกอร์ (Alexandra Parker) คุณแม่ชาวซิดนีย์ อ่านเรื่องราวของของนางเจนนี มอร์ริสัน (Jenny Morrison) และการต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของเธอ คุณอเล็กซานดราเข้าใจถึงความรู้สึกของภริยานายกรัฐมนตรีได้ดี

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นางมอร์ริสันได้พูดถึงชีวิตของเธอหลังคลอดบุตรสาวสองคน โดยเล่าว่าเธอสามารถเอาชนะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนและครอบครัว

แต่ต่างจากนางเจนนี่ มอร์ริสัน นางอเล็กซานดรา ปาร์กเกอร์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในระหว่างที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

นั่นเป็นเพราะคำร้องขอให้บิดามารดาของเธอซึ่งอยู่ที่สหราชอาณาจักรเข้าออสเตรเลียนั้นถูกปฏิเสธ ถึงแม้ว่าเธอจะยื่นจดหมายจากแพทย์และผู้ให้คำปรึกษาสุขภาพจิตเพื่อสนับสนุนคำร้อง

สำหรับคำร้องขอยกเว้นการเดินทาง (travel exemptions) รัฐบาลไม่นับบิดามารดาเป็นครอบครัวใกล้ชิด (immediate family)

คำร้องของนางปาร์กเกอร์ถูกปฏิเสธถึงสามครั้ง เธอกล่าวว่า เธอเข้าใจความรู้สึกของนางมอร์ริสัน ผู้หญิงหลายคนก็กำลังต่อสู้โดยไม่มีครอบครัวสนับสนุนเช่นเดียวกับเธอ

“แน่นอนค่ะดิฉันรู้สึกเห็นใจเธอ [นางมอร์ริสัน] ใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ความวิตกกังวลต่างๆ ดิฉันขอส่งกำลังใจไปให้พวกเขา แต่จากบทสัมภาษณ์ของเธอ ซึ่งเธอได้กล่าวถึงเป็นสิ่งแรกคือ การต่อสู้กับภาวะทางจิตเช่นนี้ควรได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และเธอยังพูดถึงการที่มีครอบครัวอยู่ตรงนั้น แพทย์ และเพื่อนๆ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการฟื้นฟูสภาพจิตใจจากภาวะนี้ที่สามารถรักษาให้หายได้โดยการมีครอบครัวอยู่เคียงข้าง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถผ่านพ้นภาวะจิตใจเช่นนี้ไปได้”
คุณปาร์กเกอร์กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและความวิตกกังวลที่เธอประสบนั้นจะต่างออกไป หากแม่ของเธออยู่เคียงข้างเพื่อช่วยเหลือเธอ

และเธอยังวิจารณ์ถึงการที่กรณีของเธอไม่ถูกพิจารณาให้เป็นเหตุผลที่ควรเห็นใจ (a compassionate ground)

“มันทำร้ายจิตใจมาก ดิฉันไม่อยากเชื่อว่ารัฐบาลไม่พิจารณาว่าการซึมเศร้านั้นเป็นเหตุผลที่ควรเห็นใจ พ่อกับแม่ของฉันได้รับวัคซีนแล้วทั้งคู่ พวกเขายอมที่จะกักตัว พวกเขายอมทำทุกอย่างที่จะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และนั่นก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่น่าเห็นใจ การที่พวกเขาจะมาที่นี่เพื่อช่วยฉันและลูกๆ ของฉัน”

นางปาร์กเกอร์ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกปฎิเสธ นางนิโคล เมดนิก (Nicole Mednick) ผู้จัดงานอีเว้นต์ (event planner) ก็ถูกปฏิเสธคำร้องให้แม่ของเธอเดินทางเข้าออสเตรเลีย ถึงแม้ว่าเธอจะต้องการการสนับสนุนจากแม่ของเธอ หลังแท้งบุตรคนแรกของเธอ
มันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่ฉันต้องเผชิญในชีวิต ฉันรู้สึกหลงทาง อ่อนแอ เสียใจ ฉันรู้สึกเหมือนโลกของฉันแตกเป็นเสี่ยงๆ ความเจ็บปวดไม่เคยหายไป แต่การมีแม่อยู่ที่นี่จะช่วยสนับสนุนและปลอบโยนฉันได้มาก และช่วยให้ฉันใช้ชีวิตในแต่ละวันได้
องค์กรดูแลสุขภาพเรื่องความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรแห่งออสเตรเลีย (Parinatal Anxiety & Depression Australia) หรือ PANDA กล่าวว่าการระบาดครั้งนี้ทำให้มีผู้โทรติดต่อองค์กรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา

ทุกเดือน องค์กรได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือเฉลี่ย 3,200 (3,261) ราย ผ่านข้อความ SMS และโทรศัพท์ เทียบกับจำนวน 1,700 (1,706) รายก่อนเกิดโควิด

นางจูลี่ บอร์นิงโฮฟ ผู้บริหารขององค์กรกล่าวว่า หลายคนมีความอ่อนแอทางจิตใจและความเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีคนในครอบครัวอยู่เคียงข้าง

“เราทราบดีว่าสำหรับบางคนนั้น พวกเขาอธิบายถึงการไม่มีความยุ่งยากและภาระครอบครัวว่าในบางครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ผ่อนคลาย แต่เราทราบว่าสำหรับคนจำนวนมากนั้น การที่ไม่สามารถมีครอบครัวอยู่เคียงข้างพวกเขาในช่วงเวลานี้มันกระทบจิตใจ และทำให้มีความอ่อนแอทางจิตใจและความเครียดสูงขึ้น  เราทราบว่ามีหลายคนที่โทรเข้าสายด่วนของเรา พวกเขามีประวัติของภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน และตอนนี้เพิ่งคลอดบุตรคนที่สองหรือสาม และกำลังเปราะบางเพราะไม่สามารถอยู่กับพ่อและแม่ของพวกเขาได้ PANDA ไม่สามารถติดตามจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดนได้ เพราะพวกเขาพูดถึงสถานการณ์ที่พวกเขาเป็นอยู่ และบ่อยครั้งมักจะเน้นไปที่สิ่งอื่นมากกว่าสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้น แต่เราทราบว่ามีคนที่โทรมาจำนวนมากที่กำลังระทมทุกข์ เพราะพวกเขาไม่สามารถให้พ่อและแม่ที่อยู่อินเดียมาอยู่กับพวกเขาได้ หรือบางคนที่อยู่ที่นี่และกำลังกักตัว โดยคู่ครองอยู่นอกประเทศและไม่สามารถกลับเข้ามาได้เพราะสถานการณ์โควิดระบาด”
postnatal mum
คุณแมเดลีน ฮัลล์ ประสบภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะพ่อและแม่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้ Source: AAP
ในฐานะของผู้ที่มีประวัติโรควิตกกังวล นางแมเดลีน ฮัลล์ (Madeleine Hull) ผู้ที่อาศัยในแถบเซ็นทรัล โคสต์ (Central Coast) รัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นหนึ่งในหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ

เธอยื่นคำร้องให้พ่อและแม่ของเธอสามารถเดินทางมาจากสหราชอาณาจักร เพื่อช่วยเหลือเธอที่เพิ่งคลอดบุตรคนแรก ในช่วงแรกของการระบาด แต่ถูกปฏิเสธภายใน 45 นาทีหลังยื่นเรื่อง

นางฮัลล์ได้รับบาดเจ็บจากการคลอดบุตร และรู้สึกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือ หลังถูกเชิญออกจากโรงพยาบาลภายในไม่กี่ชั่วโมง
ไม่มีแม่อยู่ข้างๆ ฉันที่นี่ หัวใจฉันแตกสลาย ฉันต้องการให้แม่ฉันจับมือฉัน กอดฉัน ฉันอยากให้แม่ฉันช่วยสอนฉันเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และบอกฉันว่าไม่เป็นไร แต่ฉันไม่มีอะไรแบบนั้นเลย ฉันไม่มีโอกาสที่จะมีภาพความหลังที่มีแม่อยู่ตรงนั้นกับฉัน ไม่มีอะไรเลย การที่ไม่มีแม่อยู่กับฉันมันเป็นตัวกระตุ้นให้ฉันมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะแม่เป็นที่พึ่งทางจิตใจของฉันอย่างมาก
นางฮัลล์ได้เขียนจดหมายถึงนางมอร์ริสัน อ้อนวอนให้ภริยานายกรัฐมนตรีรับฟังเรื่องราวของคุณแม่หลายท่านที่มีประสบการณ์เช่นเดียวกัน

“นายกรัฐมนตรีและภริยาทราบดีว่าการมีครอบครัวอยู่เคียงข้างในช่วงหลังคลอดบุตรนั้นสำคัญอย่างไร คุณเจนนี่ มอร์ริสันยอมรับว่าเธอโชคดีที่มีเพื่อนและครอบครัวที่ดีอยู่ข้างเธอ เพื่อเธอ ในช่วงเวลานั้น แต่ฉันกลับถูกปฏิเสธ ผู้หญิงในออสเตรเลียหลายคนไม่ได้รับความโชคดีแบบนั้น”

อ่านข้อมูลเรื่องภาวะวิตกกังวลและซึมเศร้าหลังคลอดบุตรได้ หรือโทร 1300 726 306

ใช้บริการล่ามฟรีโทร 131 450       


 คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share