หรือโลกจะเหลือแต่สุสานปะการัง

Da GBR 5 colour.jpg

แนวปะการังใน Great Barrier Reef ที่เป็นมรดกโลกกำลังเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาว Credit: Supplied / Chareeda Whungpakdee

เอสบีเอสไทยพูดคุยถึงปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของโลก 2 แห่ง นั่นก็คือ Great Barrier Reef ในออสเตรเลียและชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ว่าในตอนนี้แนวปะการังที่เคยสวยงามเสียหายไปอย่างไรบ้าง


กด ▶️ ด้านบนเพื่อฟังพอดคาสต์


เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ไม่เพียงแต่จะเกิด ปรากฏการณ์ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบนภาคพื้นดินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ไปยังโลกใต้น้ำอีกด้วย

“ปะการังฟอกขาว” เป็นปรากฎการณ์ล่าสุดที่นัก วิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ และประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลักดันให้เรื่องดังกล่าว เป็นภาระกิจเร่งด่วนของโลก

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมพิเศษ และอาจารย์ประจำที่ภาควิชา วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นักวิทยาศาตร์ทางทะเลที่คลุกคลีกับการทำงานอนุรักษ์ทะเลไทยมาอย่างยาวนาน เปิดเผยกับเอสบีเอสไทยว่าปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีขึ้นเมื่ออุณหภูมินำทะเลสูงขึ้น แต่ปะการังฟอกขาวครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤติการฟอกขาวทั่วโลกที่กินพื้นที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์
ครั้งนี้เป็นครั้งที่เราเรียกว่า global bleaching ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 50 กว่าประเทศ 3 มหาสมุทร แอตแลนติก อินเดียและแปซิฟิก
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ปะการังฟอกขาวคืออะไร

ดร. ธรณ์ อธิบายว่าปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งมีต้นเหตุมาจากภาวะโลกร้อน

“เริ่มต้นจากอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนผิดปกติ สาเหตุมาจากโลกร้อนประจวบกับปรากฎการณ์
เอลนินโญ มันก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่”

“ถ้าอุณหภูมิเกิน 31 องศา ต่อเนื่องกันสัก 2-4 สัปดาห์ ปะการังก็จะเริ่มปล่อยสาหร่ายที่อยู่ในเนื้อเยื่อออกไป สาหร่ายตัวนี้ช่วยให้อาหารกับปะการัง ทำให้ปะการังมีชีวิตอยู่ได้ พอไม่มีสาหร่ายจะทำให้ปะการังอ่อนแอลง แล้วก็ตาย”

นอกจากนั้นสาหร่ายยังทำให้ปะการังมีสีสันสดใส เมื่อสาหร่ายหลุดปะการังจะซีดลง ตอนสุดท้ายไม่เหลือปะการังเลยก็ทำให้ปะการังเป็นสีขาว
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ปะการังสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ไหม

ดร. ธรณ์ กล่าวว่า การที่ปะการังจะฟื้นตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผนวกกับปัจจัยอุณหภูมิของน้ำเย็นลงเร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยให้ปะการังฟื้นตัวเร็วเท่านั้น

“ปะการังมีความแตกต่างกัน ถ้าผิดปกติต่อเนื่องนานมาก ร้อนจัดมากๆ ก็จะทำให้ปะการังส่วนใหญ่ตาย”

ปะการังฟอกขาวกระทบอย่างไรต่อมนุษย์

ดร. ธรณ์ ชี้ว่าปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว แล้วถ้าเกิดมีความเสียหายมากๆ นอกจากจะกระทบเม็ดเงินมหาศาลที่รัฐได้จากการท่องเที่ยวแล้ว ผลกระทบอย่างอื่นที่ตามมาคือการขาดแคลนอาหารทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง

DR. Thon Thailand bleaching 1.jpg
ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีขึ้นเมื่ออุณหภูมินำทะเลสูงขึ้น แต่ปะการังฟอกขาวครั้งนี้ถือว่าเป็นวิกฤติการฟอกขาวทั่วโลกที่กินพื้นที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์
ออสเตรเลีย Great Barrier Reef เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ ถ้าปะการังตายหมดใครจะไปเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปมหาศาล
ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ประเทศไทยก็เหมือนกันถ้าสุรินทร์ สิมิลันต่างๆ หมดไป เงินก็หายไปเป็นหมื่นๆ แสนๆ ล้าน”

“ยังไม่รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ปลาหายคนก็ไม่มีกิน แล้วต่อเนื่องไปยังการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งในออสเตรเลียจะเห็นภาพชัดเพราะแนวปะการังปกป้องชายฝั่งเหมือนเป็นเขื่อน ถ้าไม่มีก็จะเกิดการกัดเซาะรุนแรง”

สถานการณ์ในออสเตรเลีย

หันมาทางฝั่งประเทศออสเตรเลีย เอสบีเอสไทยได้ไปพูดคุยกับคนไทยสองคนที่รักการดำน้ำและได้ไปสัมผัสกับโลกใต้น้ำของแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดและยังเป็นมรดกโลกอย่าง Great Barrier Reef ในรัฐควีนสแลนด์

 คุณ ดา นักท่องเที่ยวชาวไทยผู้หลงใหลการดำน้ำ และได้ไปดำน้ำที่ Great Barrier Reef เมื่อไม่นานมานี้ เห็นการเปลี่ยนแปลงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำทะเลอุ่นอย่างไร คุณดา บอกกับเอสบีเอสไทยว่า

“ที่เคยไปมีส่วนทั้งฝั่งที่ขึ้นจากเมือง Cairns กับที่ขึ้นจาก Port Douglas ซึ่งเป็นส่วนของ Great Barrier Reef เหมือนกันช่วงแรกตอนที่ไปนี่คือไปฝั่ง Port Douglas ก็มีทั้งฟอกขาว แล้วก็ที่ยังสวยอยู่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง แต่ว่าจะเจอฟอกขาวเยอะเหมือนกัน”

Da GBR bleaching.jpg
ภาพปะการังที่เริ่มฟอกขาวที่ The Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย

“ตอนที่ไปบนเรือจะมี Marine Biologist (นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล) มาคอยให้ความรู้ เค้าบอกว่าช่วงนี้ปะการังฟอกขาวค่อนข้างเยอะมาก"

ตอนแรกที่ได้ยินค่อนข้างตกใจเหมือนกัน เค้าพูดอยู่ว่าประมาณ 74% ที่ฟอกขาว
คุณ ดา นักท่องเที่ยวชาวไทย

คุณดาเล่าว่าเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยจะบอกว่าปะการังที่เมืองไทยมีสัสันสวยกว่า แต่เธอชี้ว่าอาจขึ้นอยู่กับช่วงเวลา สถานที่

“คนไทยที่ดำที่ไทยมาก่อน ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าที่ไทยสวยกว่า เหมือนยังจะดีกว่าที่นี่ ที่นี่มีปะการังฟอกขาวเยอะมาก ที่นี่เป็นปะการังแข็ง พอมันฟอกขาวมันเลยออกสีขาว สีตุ่นๆ เวลาถ่ายรูปออกมามันก็ไม่สวยมาก”

“แต่พอที่เราลงไปถือว่าค่อนข้างโชคดี ที่ยังเห็นสวยๆ อยู่ มันขึ้นกับเดือนที่ไป ช่วงที่ไป หรือ dive site ที่ไปด้วย”


ส่วนคุณ ฟิลม์ คนไทยที่ทำงานเป็นครูสอนดำน้ำและช่างภาพใต้น้ำที่แนวปะการังที่ The Great Barrier Reef อธิบายสถานการณ์ล่าสุดว่าเริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
พออุณหภูมิเริ่มเข้าหน้าหนาว มันก็ค่อยๆ เย็นขึ้น ตัวปะการังก็ค่อยๆ ฟื้นฟูกลับคืนมา
คุณ ฟิล์ม ช่างภาพใต้น้ำและครูสอนดำน้ำ

คุณ ฟิลม์ ที่หลงรักโลกใต้ทะเลชี้ว่า ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไม่มีปะการัง ก็ไม่มีทะเล เขาชี้ว่า

“เพราะว่าปะการังเหมือนเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหาร เป็นที่อยู่ของปลาเล็ก ถ้าไม่มีปลาเล็กก็ไม่มีปลาใหญ่ ถ้าไม่มีปลา ทะเลก็ไม่เหลือ”

ส่วนพื้นที่ในThe Great Barrier Reef ได้ให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือนหรือไม่ ทั้งคุณดาและคุณฟิลม์กล่าวว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของ The Great Barrier Reef ตระหนักถึงการให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีวิทยกร นักวิทยาศาตร์ทางทะเลมาให้ความรู้เกี่ยวกับปะการังและอธิบายถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

film GBR 4.jpg
แนวปากะรังที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำทะเลอุ่นที่ The Great Barrier Reef

คุณฟิล์มกล่าวว่า

“ที่ผมทำงานอยู่ เค้าให้ความรู้กับลูกค้าที่มาดำน้ำ ก็จะมี Marine Biologist มาพูดให้ฟังทุกทริฟ มาให้ความรู้ว่าปะการังคืออะไร อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ฟอกขาว อะไรเป็นอันตรายต่อปะการังบ้าง”

อย่างไรก็ตามคุณฟิลม์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแต่ก็อยากให้คำนึงถึงสภาพนิเวศน์ทางทะเลที่เราทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ด้วย

“ถ้าใครยังไม่เคยมา อยากให้มาจะได้รู้ว่ามันอลังการแค่ไหน เวลามาดำน้ำเราจะเห็นว่าที่นี่เค้ามีความซีเรียสเรื่องการอนุรักษ์ยังไง ทุกทริปที่ผมไปมีการให้ความรู้ทุกคน อยากให้นำไปปรับใช้ที่บ้านเราบ้าง”

LISTEN TO
Coral bleaching Interview  image

หรือโลกจะเหลือแต่สุสานปะการัง

SBS Thai

29/05/202424:08

 คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 





 

 

 

Share