พบปัญหาสุขภาพระยะยาวในผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19

Professor Gisli Jenkins examining scans of the lungs

Professor Gisli Jenkins examining scans of the lungs Source: AP

บรรดาแพทย์ในประเทศที่ผู้ป่วยฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมากขึ้น ระบุว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับการรักษา แม้ว่าจะหายดีจนออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว


องค์การอนามัยโลกรายงานว่า 4 ใน 5 ของผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการ และกำลังเป็นที่แน่ชัดว่า อาจเป็นไปได้ที่จะพบอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นในอนาคต

นักไวรัสวิทยากล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยก็อาจมีความซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด

คุณซูซาน เครสเวลล์ (Susan Creswell) จากสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยนี้ ที่ท้ายที่สุดแล้วเธอต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เธอเล่าว่า มันเป็นความรู้สึกที่เลวร้าย เมื่อพยาบาลคนหนึ่งบอกกับเธอว่า ทางเลือกเดียวในการรักษา คือการฉีดยาให้เธอหลับไป 

"มีพยาบาลน่ารักมากคนหนึ่งจับมือฉันแล้วบอกว่า ทางเดียวที่เราจะสามารถรักษาคุณได้ ก็คือการฉีดยาให้คุณหลับไป ซึ่งมันเลวร้ายมาก เพราะสิ่งแรกที่ฉันคิดถึงคือลูก ๆ" คุณเครสเวลล์กล่าว

"ฉันบอกกับพยาบาลคนนั้นว่า มันไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับฉันเลยหรือ ฉันรักลูกมาก คุณช่วยบอกกับพวกเขาแทนฉันได้ไหม สำหรับฉัน ความเป็นจริงก็คือมันไม่มีทางเลือกอะไรอีก แต่สำหรับพวกเขา ก็คงจะต้องพบกับข่าวที่น่าหดหู่แบบนี้ไปทุกวัน"

เธอได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และการฟื้นฟูจนหายดีเป็นปกตินั้นยังคงใช้เวลา เธอยังคงหายใจลำบาก และมีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก

หญิงวัย 65 ปีคนนี้จะยังไม่ถึงวัยเกษียณจนกระทั่งเดือนตุลาคมนี้ และในตอนนี้เธอไม่แน่ใจว่าจะสามารถกลับไปทำงานได้อีกหรือไม่

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงชาร์ลอตต์ โบลตัน ด้านระบบทางเดินหายใจ จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กล่าวว่า กรณีของคุณเครสเวลล์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

"บางส่วนมีอาการหายใจลำบาก บ้างมีอาการไอ อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน บางส่วนรายงานว่ามีอาการฝันแบบรู้ตัว รวมถึงสูญเสียความทรงจำในช่วงที่รับการรักษาทั้งหมด ซึ่งส่วนนี้เราเรียกว่าเป็นการทำงานของสมองระดับสูง" ศาสตราจารย์แพทย์หญิงโบลตันกล่าว

และดูเหมือนว่าผู้ที่ฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ที่แสดงอาการเพียงเล็กน้อยนั้น กำลังพบเจอกับลักษณะอาการหลังฟื้นตัวจากไวรัสในแบบเดียวกันนี้ โดยบรรดาแพทย์พบว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้มีผลเพียงแค่ปอดอย่างเดียว แต่ยังมีผลไปถึงระบบเลือด ระบบไต ระบบตับ และไปจนถึงระบบสมอง ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียแบบเรื้อรัง และอาการซึมเศร้า

รายงานจากมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รายงานการค้นพบอาการต่าง ๆ หลังจากผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ได้ฟื้นตัวในระยะแรก ซึ่งรวมถึงอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง หายใจสั้น และความรู้สึกกดทับบริเวณหน้าอก

ที่โรงพยาบาลเมืองนอตติงแฮมในสหราชอาณาจักร บรรดาแพทย์ได้จัดตั้งชุดทำงานหลายสาขาสำหรับผู้ป่วยนอก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ และการดูแลผู้ป่วยวิกฤต เช่นเดียวกับนักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างหนัก แล้วต้องลงเอยด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจ ยังมีสิ่งแทรกซ้อนอีกมากในอนาคต

แพทย์หญิงซาราห์ ลินฟอร์ด (Dr. Sarah Linford) ผู้เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยวิกฤต กล่าว่า แพทย์จะชะลอการพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจที่ จนกว่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งาน

"การจะใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ป่วยคนใด คุณต้องมีสิ่งที่สามารถย้อนกลับหรือรักษาได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของเราเมื่อมีผู้ป่วยมายังแผนกวิกฤต และจำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เครื่องช่วยหายใจนั้นสามารถสร้างผลเสียได้" แพทย์หญิงลินฟอร์ดกล่าว

"การให้ผู้คนหายใจด้วยเครื่องนี้ คือการที่เราเปลี่ยนการเคลื่อนตัวของอากาศเข้าและออกจากปอด มันมีงานวิจัยหลายฉบับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งวิเคราะห์ว่าเครื่องช่วยหายใจจะความเสียหายได้อย่างไร"

อาการแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 บางส่วนที่ได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ ดูเหมือนว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปอดอย่างถาวร

ศาสตราจารย์กิสลี เจนกินส์ (Prof Gisli Jenkins) เป็นนักวิจัยทดลองทางการแพทย์ เขาได้ตรวจสอบภาพปอดของผู้ป่วยไวรัสโคโรนาที่ได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาล 3 เดือนก่อนหน้านี้ เขาชี้ให้เห็นว่า มีรอยแผลที่รุนแรงเป็นบางส่วน

"ภาพที่คุณเห็นตรงนี้ มันเป็นสิ่งที่มีความคล้ายกับสภาวะการอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุบริเวณเนื้อปอด ซึ่งเป็นโรคแผลในปอดที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง แล้วเราทราบว่าผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการพัฒนาการต่อเนื่อง และตามปกติจะเสียชีวิตภายใน 3 ปีหลังตรวจพบ" ศาสตราจารย์เจนกินส์กล่าว

บรรดานักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ยังคงเร็วเกินไปหากจะเปรียบเทียบและหาข้อสรุปเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ยังไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน ขณะที่นักวิจัยต่างเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยให้กว้างขวางขึ้น เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จะตกอยู่ในความเสี่ยงหรือไม่ หลังฟื้นฟูจากไวรัสชนิดนี้จนหายดีแล้ว


 

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 



Share