ถกปัญหาสุขภาพจิตของ “คนไทยไกลบ้าน”

bloom 1.JPG

คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ (บลูม) นักจิตบำบัดคนไทยในนครเมลเบิร์น

คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ หรือ คุณ บลูม นักจิตบำบัดคนไทยในนครเมลเบิร์น พูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยที่อาศัยในออสเตรเลีย รวมถึงอธิบายขั้นตอนการเข้ารับบริการเรื่องสุขภาพจิตในออสเตรเลีย


คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังเรื่องนี้


คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ หรือ คุณ บลูม นักจิตบำบัดคนไทยในนครเมลเบิร์น พูดคุยถึงปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยที่อาศัยในต่างประเทศ การปรับตัวเมื่อต้องย้ายไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ความคาดหวัง และการขาดเครือข่ายความช่วยเหลือ ทำให้คนไทยไกลบ้านหลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตได้ เธอเปิดเผยว่า

“จากข้อมูลของ ABS ปี 2022 ทุกๆ 1 ใน 5 ของคนอายุ 15-85 ปี จะมีปัญหาด้านจิตเวช mental disorder มันค่อนข้างเยอะทีเดียว”

“การย้ายมาต่างประเทศมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตค่อนข้างเยอะ เพราะเรามาคนเดียว เราไม่มี support จากเพื่อน จากครอบครัว ต้องปรับตัวเยอะ ทั้งหาบ้านใหม่ หางานใหม่ มันออกจาก comfort zone ของเรา”

bloom 2.jpeg
จากข้อมูลของ ABS ปี 2022 ทุกๆ 1 ใน 5 ของคนอายุ 15-85 ปี จะมีปัญหาด้านจิตเวช

นักเรียนไทยกับปัญหาสุขภาพจิต

คุณ นิภาวรรณเปิดเผยว่าในช่วงการปรับตัวเมื่อย้ายมาอาศัยในประเทศใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา ที่อยู่อาศัย เพื่อน การทำงาน หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน

 “ในกลุ่มที่อายุต้นสามสิบ ย้ายมาออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียน หรือ วีซ่า work and holiday มาเรียนภาษา เก็บเงิน หาประสบการณ์ การย้ายมาประเทศใหม่ การหางาน ที่อยู่อาศัย ก็อาจทำให้การปรับตัวก็อาจเป็นปัญหาได้"

อีกเรื่องหนึ่งคือความคาดหวัง เช่นมาเรียนคิดว่าจะต้องฝึกภาษาได้ภายใน 4 เดือน แต่สุดท้ายกลุ่มเพื่อนคนไทย แชร์บ้านกับคนไทยเวลาผ่านไปภาษาก็ยังไม่ได้ หรือถ้ามา work and holiday ก็เป็นเรื่องการหางานที่ต้องลาออกจากงานดีๆ ที่เมืองไทย มาที่นี่ต้องมาทำงานล้านจาน ทำความสะอาด เพราะภาษายังไม่ได้ เค้าก็รู้สึก fail
คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ บลูม นักจิตบำบัดคนไทย
คุณนิภาวรรณให้คำแนะนำในกรณีนี้ว่า ต้องปรับทัศนคติของตนเองว่าที่นี่ทุกอาชีพเท่าเทียมกัน และมันเหมือนเป็นการเรียนรู้ในสังคมใหม่

“อยากบอกทุกคนว่าเปิดใจก่อนเพราะว่าที่นี่ทุกอาชีพเท่าเทียมกันหมด และถ้ารู้สึกเครียดให้หากิจกรรมที่ชอบทำ พยายามหากิจกรรมที่เราชอบทำที่เมืองไทย เพื่อที่เราจะได้รู้สึกคุ้นเคย”

พ่อแม่กับปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

คุณ นิภาวรรณ เล่าว่า หลายครั้งที่มีพ่อแม่มาขอความช่วยเหลือให้ลูกเนื่องจากลูกเพิ่งย้ายมาอยู่ออสเตรเลียแล้วมีปัญหาเรื่องภาษาและส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมและการเรียนและทำให้กระทบต่อสุขภาพจิตโดยรวม หรือแม้กระทั่งการที่พ่อแม่มีปัญหาด้านความขัดแย้งทางวัฒนธรรมซึ่งทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว คุณนิภาวรรณเปิดเผยว่า

 “ปัญหาที่พบบ่อยคือ ลูกเพิ่งมาจากเมืองไทยมาอยู่ที่เมลเบิร์น ซิดนีย์ ฯลฯ แล้วลูกปรับตัวไม่ได้ แล้วมีปัญหาเรียนไม่ได้ สอบตก มีปัญหาครอบครัวไม่คุยกับพ่อแม่ แล้วเค้าก็ไม่รู้จะช่วยยังไง หรือลูกที่โตที่นี่แล้วได้รับวัฒนธรรมที่นี่ เค้าอาจจะพูดจาแรงๆ ออกจากบ้านไม่บอกพ่อแม่ ซึ่งคนเป็นแม่ที่เป็นคนไทยไม่ชิน ยังปรับตัวไม่ได้”


คุณนิภาวรรณแนะนำว่าอาจจะให้ลูกไปพูดคุยกับครู หรือเจ้าหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพจิตของโรงเรียน

“ถ้าเค้าคุ้นชินกับครูหรือสตาฟของโรงเรียนมากกว่า ก็ขอให้คุณแม่ไปบอกครูก็ได้ แล้วครูก็จะทำการนัด appointment ให้ไปคุยกับสตาฟของทางโรงเรียน”

จะดูแลสุขภาพจิตของตนเองอย่างไร

คุณนิภาวรรณอธิบายว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอเป็นปกติในชีวิตประจำวันแต่การหมั่นสังเกตตนเองทั้งในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก สุขภาพ ตารางการกิน การนอน ของตนเองเป็นประจำ จะทำให้เราสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้และยังเป็นการเห็นปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะสามารถรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญได้

ถ้าเราสังเกตว่าเรามีความผิดปกติด้านการนอน ความอยากอาหาร (appetite) หรือ day to day life เช่นนอนดึก นอนไม่หลับ นอนมากเกินไป ไม่อยากอาหาร กินเยอะไป หรือช่วงนี้รู้สึกเศร้า และถ้าติดต่อเป็นระยะเวลานาน หลายๆ เดือน เราก็ควรไปพบแพทย์ดีกว่า
คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ นักจิตบำบัดคนไทย

ขั้นตอนเข้ารับบริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

คุณ นิภาวรรณ เปิดเผยว่า หากคุณสงสัยว่าคุณอาจมีความผิดปกติด้านสุขภาพจิต ขั้นแรกคุณสามารถไปรับคำปรึกษาจากแพทย์จีพี ซึ่งแพทย์จะเขียนแผนการดูแลสุขภาพจิต หรือ mental health care plan ต่อจากนั้นจึงเข้ารีบการบริการจาก นักจิตวิทยา (psychologist) ได้ บริการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งคุณสามารถที่จะได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 10 ครั้งต่อหนึ่งปี

 “ถ้าเป็นคนที่นี่ (PR/Citizen) หรือวีซ่านักเรียนแล้วมีประกัน ก็จะต้องไปหาแพทย์จีพีก่อน อาจมีการตรวจร่างกายซึ่งอาจมีความผิดปกติของร่างกายไม่ใช่เรื่องสุขภาพจิต แต่ถ้าเค้าดูแล้วว่ามันเป็นเรื่อง mental health มันก็จะมี mental health care plan รัฐบาลจะ cover ให้ 10 sessions ฟรีต่อปี”

“ในออสเตรเลียจะมีหลายอาชีพที่ให้คำปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยา (psychology) นักจิตบำบัด (counsellor) นักสังคมสงเคราะห์ (social worker) แต่ถ้าใช้ mental health care plan ของเมดิแคร์ ก็จะพบได้อย่างเดียวคือ นักจิตวิทยา (psychology) ถ้าไปรับคำปรึกษาจากนักจิตบำบัด หรือ นักสังคมสงเคราะห์ ก็ต้องจ่ายเอง”


meeting room
หากเป็นนักเรียนสามารถที่จะใช้ประกันสุขภาพหรือเข้ารับคำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากสถาบันการศึกษาที่คุณเข้าเรียนได้

หากเป็นนักเรียนสามารถที่จะใช้ประกันสุขภาพหรือเข้ารับคำปรึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากสถาบันการศึกษาที่คุณเข้าเรียนได้

“ ลูกค้าของบลูมส่วนใหญ่จะเป็นคนจีน คนไทยจะน้อยมากเนื่องจากว่าประกันสุขภาพ health insurance- OSHC มันไม่ได้ครอบคลุม คือนักเรียนส่วนใหญ่เค้าอาจจะไม่สามารถ cover ตรงนี้ได้ แต่บลูมก็เห็นว่าในแต่ละโรงเรียนหรือสถาบันต่างๆ เค้าค่อนข้างจะ advocate ว่าตามแต่ละโรงเรียนจะมี student counsellor มี wellbeing team ถ้าคุณเป็นนักเรียนของเขาก็สามารถไปขอคำปรึกษาได้ฟรี”

ส่วนปัญหาที่นักเรียนไทยหรือนักเรียนต่างชาติอาจไม่ได้เข้ารีบคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ คุณ นิภาวรรณ ชี้ว่านอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ปัจจัยด้านกำแพงภาษาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเรียนต่างชาติไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านนี้ได้


“มีเยอะมากนะคะ หนึ่งก็คือ language barrier ซึ่งถ้าไปหา counsellor ในสภาบันเค้า เค้าอาจจะต้องพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งคนไทยอาจจะอยากปรึกษากับนักจิตบำบัดที่พูดภาษาไทย อันนี้ก็คือหนึ่งที่เค้าจะไม่ไปละ"

แต่ถ้าเค้าโทรไปปรึกษานักจิตบำบัดที่ไทย เค้าก็อาจจะต้องการคนที่อยู่ที่นี่มากกว่า เพราะว่าการคุยเรื่องปัญหาชีวิต ความรู้สึก คุยในภาษาเรามันอาจจะสบายใจกว่า หรือ express ได้มากกว่า
คุณ นิภาวรรณ พิทักษ์ชินพงศ์ นักจิตบำบัดคนไทยในนครเมลเบิร์น

กิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี

คุณ นิภาวรรณ แนะนำว่า ควรหากิจกรรมที่คุณสนใจ หรือเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา หรืองานศิลปะต่างๆ เพื่อได้พบปะพูดคุยกับคนใหม่ๆ ซึ่งอาจจะทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่ หรือ เป็นกิจกรรมที่สามารถดึงตัวเองจากความเศร้าหรือวิตกกังวลนั้นได้ การที่จัดเวลาดูแลตนเอง (self-care) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้

 “จริงๆ แล้ว ความเครียด ความกังวล ความเศร้า มันก็คืออารมณ์หนึ่งๆ ไม่อยากให้ไปมุ่งว่ามันสิ่งที่เป็นลบ มันเกิดขึ้นได้ทุกๆวัน อารมณ์เราจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่แล้ว กิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นคืออย่างแรกก่อนเราต้องรู้จักตัวเราก่อนว่าชอบทำอะไร ไม่ชอบอะไร ชอบวาดรูป เล่นกีฬา”

“ถ้ารู้สึกแย่ๆ รู้สึกว่า self-care การดูแลตัวเองเป็นอะไรที่สำคัญ เราควรที่จะดูแลตัวเราก่อน เราควรจัดตารางเวลา เดือนละครั้งหรือสองครั้งไปดูแลตัวเอง บางคนก็ไปทำเล็บ ต่อขนตา ไปเล่นกีฬา เจอเพื่อน เป็นวันๆหนึ่งที่เรา dedicate ให้กับตัวเองเลย”



คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 



บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share