เครือจักรภพจะอยู่รอดต่อไปหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธหรือไม่

Queen Elizabeth II death

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยผู้นำประเทศในเครือจักรภพ ในการประชุมเมื่อปี 2012 Credit: Lefteris Pitarakis/PA

เครือจักรภพแห่งประชาชาติ (Commonwealth of Nations) ก่อตั้งขึ้นในฐานะองค์กรของรัฐสมาชิกที่ 'เท่าเทียมกัน' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ อะไรคือจุดยืนของเครือจักรภพในศตวรรษที่ 21 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2?


แนวคิดเกี่ยวกับเครือจักรภพแห่งประชาชาติ (Commonwealth of Nations) อุบัติขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อตอบสนองต่อการลดน้อยลงของอำนาจจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องจากอาณานิคมต่างๆ เริ่มมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง หรือประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิ ในรูปแบบและในระยะต่างๆ กันไป

ศาสตราจารย์แองเจลา วูลลาคอตต์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือเอเอ็นยู อธิบายว่า

“ความจริงแล้วจักรวรรดิอังกฤษมีขอบเขตและอำนาจสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 จักรวรรดิอังกฤษปกครองพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีขอบเขตถึงระดับสูงสุด มันก็เริ่มหดตัว” ศ.วูลลาคอตต์ กล่าว
จักรวรรดิอังกฤษมีขอบเขตและอำนาจสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 จักรวรรดิอังกฤษปกครองพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลก เมื่อมีถึงระดับสูงสุด มันก็เริ่มหดตัว
ศ.แองเจลา วูลลาคอตต์
ในขณะที่ประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกาใต้ตัดสัมพันธ์กับจักรวรรดิอังกฤษในช่วงปีทศวรรษที่ 1910 หลังสงครามโบเออร์ (Boer War) และไอร์แลนด์ขออิสระในการปกครองตนเอง (Home Rule) ในเวลาเดียวกัน ขณะที่อาณานิคมในแอฟริกาและแคริบเบียนยังคงอยู่ภายใต้กฎการปกครองของอาณานิคมนานกว่านั้น

ในออสเตรเลีย อาณานิคมต่างๆ (รัฐต่างๆ) เริ่มการปกครองตนเองและมีรัฐสภาเป็นของตนเองก่อนการก่อตั้งสหพันธรัฐ (Federation) ในปี 1901 ออสเตรเลียเริ่มออกหนังสือเดินทางของตนเองในปี 1948

ศ. วูลลาคอตต์ กล่าวเรื่องนี้ว่า

"จักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพได้ทับซ้อนกัน เครือจักรภพเริ่มอุบัติขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เป็นเวลาหลายสิบปีที่มันถูกเรียกว่า 'จักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพ' ซึ่งสะท้อนถึงความจริงที่ว่าอาณานิคมบางแห่งได้ปกครองตนเองและได้เอกราช ในขณะที่บางอาณานิคมยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น" ศ.วูลลาคอตต์ กล่าว

ในปี 1947 อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราช ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ และอิทธิพลทางการเมืองของอังกฤษต่อกิจการของประเทศอาณานิคม
ดร.ซินดี แมคครีรี อาจารย์อาวุโสด้านประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ แย้งว่าเนื่องจากการก่อตั้งเครือจักรภพเชื่อมโยงโดยตรงกับการรื้อถอนจักรวรรดิอังกฤษ จึงมีการตั้งคำถามมานานแล้วถึงอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงของเครือจักรภพ

"ทุกวันนี้ เครือจักรภพประกอบด้วยกว่า 50 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาธารณรัฐ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งเหมือนกับสหราชอาณาจักร คือมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข"

การเป็นสมาชิกเครือจักรภพเป็นไปตามความสมัครใจ และประเทศสมาชิกสามารถตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวได้ ซึ่งดร.แมคครีรี อธิบายว่า

“ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพเป็นสาธารณรัฐและโดยส่วนใหญ่พวกเขาตัดสินใจที่จะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐแทนที่จะเป็นกษัตริย์อังกฤษ แต่นั่นไม่ได้กีดกันพวกเขาจากการเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ มีเป็นบางประเทศที่ออกจากเครือจักรภพ มีบางประเทศที่เพิ่งเข้าร่วมไม่นานนี้ แต่โดยรวมแล้ว เครือจักรภพเป็นองค์กรที่ค่อนข้างมั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถฯ "
ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพเป็นสาธารณรัฐและโดยส่วนใหญ่พวกเขาตัดสินใจที่จะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ แทนที่จะเป็นกษัตริย์อังกฤษ แต่นั่นไม่ได้กีดกันพวกเขาจากการเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ
ดร.ซินดี แมคครีรี
 แต่เครือจักรภพได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงรัชสมัย 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ศ.วูลลาคอตต์จากเอเอ็นยูเชื่อว่า ความตกต่ำของเครือจักรภพส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 เนื่องจากอำนาจของเครือจักรภพเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องจักรวรรดิ

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอำนาจการควบคุมดินแดนอาณานิคมถูกโอนไปให้แก่มหาอำนาจอื่น ตัวอย่างหนึ่งก็คือฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมและดินแดนอิสระของจักรวรรดิอังกฤษตั้งแต่ปี 1841 แต่ถูกส่งมอบให้จีนในปี 1997

ศ.วูลลาคอตต์ กล่าวว่า

"มันหดหายไปจากที่เคยเป็น ฉันไม่คิดว่ามันมีอำนาจหรือมีสถานะอย่างเมื่อก่อนในโลกขณะนี้ แม้ว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ กิจกรรมทางวัฒนธรรม และกิจกรรมอื่น ๆ จะดำเนินต่อไป" ศ.วูลลาคอตต์ แสดงความเห็น

ดร.ซินดี แมคครีรี อธิบายว่า ขณะที่เครือจักรภพพัฒนาขึ้นภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 แต่สถานะในระดับนานาชาติของเครือจักรภพยังคงถูกตั้งคำถาม
ยากที่จะระบุว่าอำนาจของเครือจักรภพจริงๆ แล้ว คืออะไร
ดร.ซินดี แมคครีรี
"ยากที่จะระบุว่าอำนาจของเครือจักรภพจริงๆ แล้ว คืออะไร ซึ่งอันที่จริงนี่เป็นหนึ่งในคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเครือจักรภพ ว่าไม่ได้ทำอะไรมากนักในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา" ดร. แมคครีรี กล่าว

บาร์เบโดสเป็นประเทศล่าสุดที่ละทิ้งจักรวรรดิอังกฤษไปเป็นสาธารณรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2021

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ออสเตรเลียดำเนินการตามบ้าง นางลิเดีย ธอร์พ วุฒิสมาชิกและเป็นชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียเผ่า Djabwurrung Gunnai Gunditjmara กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ออสเตรเลียจะต้องสร้างสนธิสัญญากับชนกลุ่มแรกของชาติ และเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ

"ฉันเชื่อว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศนี้ ไม่ต้องการถูกบงการโดยอำนาจอาณานิคมจากประเทศอื่น เราต้องการเป็นประเทศของเราเอง เพื่อกำหนดชะตาชีวิตของเราเอง" นางลิเดีย ธอร์พ กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share