ชี้อุปสรรคในการหางานทำของแรงงานทักษะในออสเตรเลีย

Courier delivery man holding a big cardboard box rings to the doorbell. Parcel delivery concept

พนักงานขับรถส่งของในออสเตรเลียอาจเป็นผู้มีทักษะด้านวิศวกรรม หรือจบปริญญาเอก Source: Getty / Daria Nipot/Getty Images/iStockphoto

รายงานฉบับใหม่ของมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) แสดงให้เห็นว่า ผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะสูงมักเผชิญกับอุปสรรคในการหางานทำ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามักต้องทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ ขณะการขาดแคลนทักษะยังคงเกิดขึ้นทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย


คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังรายงาน

รายงานของมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) ดังกล่าวได้ศึกษาประสบการณ์ของแรงงานทักษะชาวเวียดนาม 50 คน ที่มักถูกเลือกปฏิบัติตลอดทั้งกระบวนการสรรหาลูกจ้าง

ดร. จูน ทราน อาจารย์ด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (RMIT) กล่าวว่า

"เราต้องการแรงงานข้ามชาติเพื่อเข้ามาเติมเต็มตำแหน่งต่าง ๆ แต่เมื่อต้องใช้เวลาหลายปีกว่าพวกเขาจะกลับมามีงานทำได้ จึงทำให้เสียเวลาหรือไม่ได้ใช้ทักษะที่มีอย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะคนผู้ที่เข้ามาและควรจะช่วยเติมเต็มทักษะที่ขาดแคลนก็หางานไม่ได้"

สิ่งที่เธอกล่าวถึงคือ ปรากฏการณ์ที่น่าหนักใจที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย โดยผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะสูงถูกบีบให้ทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น พนักงานขับรถส่งของ เพราะไม่สามารถทำงานในสาขาที่ตนเชี่ยวชาญได้

ดร. ทราน เป็นผู้เขียนหลักของโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว ที่วิเคราะห์ประสบการณ์ของผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะชาวเวียดนาม 50 คนที่เพิ่งเดินทางมาถึง ซึ่งประสบปัญหาในการหางานทำ รวมทั้งศึกษาการดำเนินการของบริษัทจัดหางาน 12 แห่ง

หนึ่งในผู้ย้ายถิ่นเหล่านั้นคือ คุณ ได เหงียน ซึ่งย้ายจากเวียดนามมายังออสเตรเลียในปี 2009 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW)

แม้ว่าอาชีพของเขาจะอยู่ในรายชื่อทักษะอาชีพที่กำลังต้องการในออสเตรเลีย ที่รัฐบาลระบุไว้ แต่เมื่อเขาพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงาน เขาต้องใช้เวลาสามปีและยื่นใบสมัครไปหลายร้อยใบกว่าจะได้รับพิจารณา

เขาพบว่าเมื่อเขาเปลี่ยนชื่อจาก 'ได' เป็น 'ดีแลน' ในใบสมัครงานแล้ว เขาก็สามารถหางานได้อย่างรวดเร็ว

"ในช่วงสามปีแรกที่ผมยื่นใบสมัครด้วยชื่อภาษาเวียดนาม ผมก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับหรืออะไรเลย แต่หลังจากนั้นผมตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า 'ดีแลน เหงียน' มันก็เลยง่ายกว่าเยอะเลย แล้วหลังจากนั้นผมก็ได้งานแรก หลังจากยื่นใบสมัครไปประมาณ 3 หรือ 4 ใบ" คุณเหงียนเล่า
ในช่วงสามปีแรกที่ผมยื่นใบสมัครด้วยชื่อภาษาเวียดนาม ผมไม่ได้รับการติดต่อกลับเลย แต่หลังจากนั้นผมเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า 'ดีแลน เหงียน' แล้วผมก็ได้งานแรก
คุณ ได เหงียน
ประสบการณ์นี้ยังสอดคล้องกับผลของการศึกษาวิจัยเมื่อต้นปีนี้ ของมหาวิทยาลัยโมนาช โดยเป็นการศึกษาวิจัยอย่างกว้าง ๆ ระยะเวลา 2 ปี จากผลการวิจัยที่เผยแพร่ออกมาในเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่าผู้สมัครงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่สรรหาลูกจ้างน้อยกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้สมัครที่มีชื่อภาษาอังกฤษ สำหรับตำแหน่งงานในระดับหัวหน้าหรือผู้นำ

สำหรับตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำ ชนกลุ่มน้อยได้รับการติดต่อกลับน้อยกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้สมัครที่มีชื่อภาษาอังกฤษ

หลังจากได้รับโอกาส คุณเหงียน ก็ได้ไต่เต้าไปในสายงานอย่างรวดเร็ว และตอนนี้เขาดำรงตำแหน่ง Connections Manager ให้กับ Iberdrola Australia หนึ่งในผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

เขากล่าวว่า ตั้งแต่ที่เขาสามารถหางานในสาขาที่ตนเรียนมาได้ เขาก็ได้ช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นคนอื่นๆ ที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน ด้วยการช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำ

"หลังจากนั้นสิ่งที่ผมทำคือสร้างกลุ่มและพยายามสนับสนุนเพื่อนของผมที่พบความยากลำบากในการหางานแรก และตอนนี้ผมมีกลุ่มประมาณ 10 คน และตอนนี้พวกเขาทุกคนต่างก็เป็นผู้จัดการอาวุโสในอุตสาหกรรม ดังนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง" คุณเหงียน กล่าว

คุณเทรนต์ วิลต์เชียร์ รองผู้อำนวยการโครงการแผนกการย้ายถิ่นฐานและตลาดแรงงานของสถาบัน แกรตแทน (Grattan Institute) กล่าวว่า การวิจัยล่าสุดที่สถาบันจัดทำพบว่า นักศึกษาต่างชาติเช่นคุณเหงียนมักไม่ได้รับโอกาสที่จะได้ทำงานหลังสำเร็จการศึกษา เนื่องจากนายจ้าง ที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของระบบการรับผู้ย้ายถิ่นฐาน

"เราได้ทำการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเหตุใดนักศึกษาต่างชาติที่เรียนที่นี่จึงทำได้ไม่ดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาจบการศึกษาแล้วและพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงานของออสเตรเลีย เราจึงสำรวจนายจ้างว่าทำไมพวกเขาจึงไม่รับผู้ถือวีซ่าผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านั้น และส่วนใหญ่คือนายจ้างพบว่าระบบการย้ายถิ่นฐานซับซ้อนเกินไป พวกเขาไม่มีความเข้าใจระบบ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แทนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง พวกเขาก็แค่ไม่จ้างแรงงานทักษะบางกลุ่มแทน" คุณวิลต์เชียร์ อธิบาย
เราสำรวจนายจ้างว่าทำไมพวกเขาจึงไม่รับผู้ถือวีซ่าผู้สำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่คือนายจ้างพบว่าระบบการย้ายถิ่นฐานซับซ้อนเกินไป พวกเขาไม่เข้าใจระบบ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
คุณ เทรนต์ วิลต์เชียร์ จากสถาบัน แกรตแทน
เขากล่าวต่อไปว่า ระบบของออสเตรเลียในการรับผู้ย้ายถิ่นฐานที่เป็นแรงงานทักษะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลิตภาพของประเทศที่เพิ่งได้รับผลกระทบเมื่อเร็ว ๆ นี้

"การย้ายถิ่นฐานเข้ามาของแรงงานทักษะมีความสำคัญของเศรษฐกิจออสเตรเลีย โดยปกติแล้วแรงงานทักษะจึงมาที่นี่เมื่อพวกเขายังอายุค่อนข้างน้อย พวกเขาให้ผลประโยชน์ทางการคลังที่สูงมากและมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย พวกเขายังให้ประโยชน์ด้านผลิตภาพอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในขณะนี้ เนื่องจากออสเตรเลียเผชิญกับผลิตภาพที่การเติบโตอ่อนตัวลง" คุณวิลเชียร์ กล่าว

ศูนย์ทรัพยากรสำหรับผู้ย้ายถิ่นฐานในเวสเทิร์นซิดนีย์ (Western Sydney Migrant Resource Centre) ได้ช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยที่เพิ่งมาถึงในการตั้งถิ่นฐานใหม่ในออสเตรเลีย และช่วยแนะนำทางกระบวนการย้ายถิ่นฐานที่ซับซ้อนและกระบวนการสรรหาบุคคลากรเข้าทำงานในออสเตรเลีย

คุณ เนธาน เบอร์บริดจ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์ พบว่า อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อโอกาสในการได้งานทำสำหรับแรงงานทักษะคือ การขาดประสบการณ์การทำงานในออสเตรเลีย

"หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายที่สุดจากประสบการณ์ของเราเกี่ยวกับผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยที่เพิ่งมาถึง คือความสามารถของพวกเขาในการได้รับประสบการณ์การทำงานในออสเตรเลีย และสิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของพวกเขาในตลาดงาน”
ความสามารถของพวกเขาในการได้รับประสบการณ์การทำงานในออสเตรเลียส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขันของพวกเขาในตลาดงาน
คุณ เนธาน เบอร์บริดจ์ จาก Western Sydney Migrant Resource Centre
“สิ่งหนึ่งที่เราได้พิจารณาอย่างละเอียดคือ การทำงานในระดับต่ำกว่าทักษะจริง ๆ ที่มีนั้นเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรสำหรับคนที่เพิ่งมาอยู่ใหม่เหล่านี้ เช่น คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจในปี 2021 วิเคราะห์เรื่องนี้และสามารถระบุได้ว่าแรงงานทักษะราว 23 เปอร์เซ็นต์ มีงานทำในระดับต่ำกว่าทักษะทั้งหมดที่พวกเขามีอยู่ และผมคิดว่านั่นความจริงแล้วมาจากทัศนคติของชุมชนธุรกิจต่อการเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้" คุณ เบอร์บริดจ์ กล่าว

ดร. จูน ทราน จากอาร์เอ็มไอที กล่าวว่า ความอิสระในการตัดสินใจหรือดุลยพินิจจากภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญ แต่เธอเชื่อว่ารัฐบาลออสเตรเลียจำเป็นต้องให้สิ่งจูงใจทางการเงินแก่องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรเหล่านั้นมอบประสบการณ์ทำงานในท้องถิ่นแก่ผู้ย้ายถิ่นฐาน

"เราจำเป็นต้องมีโครงการบางอย่างเช่นการสนับสนุนทางการเงินสำหรับนายจ้างที่สามารถจัดให้มีการฝึกงานให้กับผู้ย้ายถิ่นฐานและแรงงานชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เราจำเป็นต้องมีความพยายามร่วมกันจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาครัฐ และตัวของแรงงานทักษะ เองด้วย ทุกคนมีความแตกต่างกันและทุกคนจำเป็นต้องรู้บทบาทในกระบวนการ องค์กรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีแรงจูงใจให้พวกเขาทำเช่นนั้นด้วย” ดร.ทราน ย้ำ

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share