รู้เท่าทันภัยความรุนแรงในครอบครัว

Domestic violence victim

Source: Pixabay

ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร หากต้องการความช่วยเหลือหรือพบเห็นผู้อาจอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง มีแนวป้องกันหรือไม่อย่างไร เจ้าหน้าที่จากสวัสดิภาพสมาคมมีคำอธิบาย


เอสบีเอส ไทย พูดคุยกับเจ้าหน้าที่โครงการ Paths to Safety ของสวัสดิภาพสมาคม ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลียที่ประสบปัญหาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (Domestic and Family Violence)
LISTEN TO
Thai Welfare Association explains domestic violence image

รู้เท่าทันภัยความรุนแรงในครอบครัว

SBS Thai

10/05/202117:56

ความรุนแรงในครอบครัวคืออะไร เกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง

ความรุนแรงในครอบครัว คือพฤติกรรมที่สมาชิกครอบครัวคนหนึ่งทำให้อีกคนหนึ่งหวาดกลัวหรือรู้สึกโดนบังคับ ไม่ว่าทางร่างกาย คำพูด หรือจิตใจ เกิดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทำร้ายร่างกาย บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ทำร้ายสิ่งของสัตว์เลี้ยง บังคับให้ทำอะไรบางอย่างโดยขู่ว่าไม่งั้นจะทำร้าย ด่าทอ ด้อยค่า รวมถึงบังคับไม่ให้ใช้เงิน ไม่ให้ไปทำงาน ไม่ให้คบเพื่อนหรือครอบครัว 

โดยภาพรวมคือพฤติกรรมที่เกิดจากการที่ฝ่ายหนึ่งต้องการควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งโดยการใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ อาจมีสาเหตุจากความไม่ให้เกียรติหรือไม่เคารพกันและกัน ฐานะการเงินหรือสังคมต่างกันมาก ทำให้ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย

ใครเป็นผู้กระทำความรุนแรงได้บ้าง เหยื่ออาจเป็นใครได้บ้าง

ทุกคนในครอบครัวกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะภรรยา สามี ลูก ปู่ยาตายาย แต่จากงานวิจัยและสถิติต่าง ๆ พบว่าผู้หญิงมักเป็นผู้ถูกกระทำ อาจด้วยว่าสังคมยังมีแนวคิดชายเป็นใหญ่อยู่มากแม้ว่าสังคมออสเตรเลียจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของทุกเพศมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว เพศหญิงยังคงมีรายได้น้อยกว่าเพศชายด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น โอกาสการศึกษาน้อยกว่า หรือมีภาระในการดูแลคนในครอบครัวทำให้ต้องเสียสละความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องพึ่งพาฝ่ายชาย จนมีทางเลือกในชีวิตน้อยลงไปด้วย ฝ่ายหญิงจึงมักเสียเปรียบและไม่มีอำนาจต่อรองในความสัมพันธ์

สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ออสเตรเลียเป็นอย่างไร

ข้อมูลของสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) ปี 2019 พบว่า 1 ใน 3 ของคดีฆาตกรรมมีสาเหตุจากความรุนแรงในครอบครัว และ 2 ใน 3 ของเหยื่อเป็นผู้หญิง 

การสำรวจของสถาบันอาชญากรรมวิทยาของออสเตรเลีย (Australian Institute of Criminology) พบว่า เกือบ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่มีคู่ครองประสบความรุนแรงในครอบครัวช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดย 2 ใน 3 บอกว่าความรุนแรงเริ่มขึ้นหรือหนักมากขึ้นในช่วงดังกล่าว 

นอกจากนี้ สายด่วน 1800RESPECT ยังได้รับสายรายงานความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

เห็นได้ว่าความรุนแรงในครอบครัวยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในออสเตรเลียที่ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสังคมให้ความสำคัญมาก มีนโยบายและกฎหมายเพื่อพยายามแก้ปัญหานี้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย

คนไทยที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ออสเตรเลียมักเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลักษณะใด

ส่วนมากมาในลักษณะที่หญิงคนไทยเป็นฝ่ายถูกทำร้าย เริ่มจากฝ่ายหญิงย้ายมาจากประเทศไทย ไม่ค่อยรู้จักใครในออสเตรเลีย พูดภาษาอังกฤษได้น้อย และอาจไม่ได้มีทักษะที่สามารถหางานในออสเตรเลียได้้ รวมถึงยังไม่มั่นใจที่จะเข้าสังคมด้วยตนเอง จนเกิดอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
หลายคู่ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายอย่างมากเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสิทธิของตนเองในประเทศนี้ เชื่อใจให้จัดการเรื่องวีซ่า เอกสารราชการ รวมถึงเปิดบัญชีธนาคาร ทำให้ฝ่ายหญิงไม่สามารถควบคุมการเงินของตนได้ หรือไม่บอกฝ่ายหญิงถึงสิทธิในการไปเรียนภาษาอังกฤษกับ ที่อบรมผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่โดยเฉพาะ หรือไม่ให้ไปทำงานเพราะอยากให้ทำงานบ้านหรือดูแลคนในครอบครัว เป็นต้น 

ปัจจัยด้านวีซ่าอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยหลายคนด่วนตัดสินใจลงหลักปักฐานกับคู่ครอง เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็เกิดเสียดายความพยายามทั้งหมดที่ทำมา รวมถึงสูญเสียต้นทุนทางสังคมที่เคยมีเมื่อย้ายถิ่นฐานมา ทั้งยังมีแรงกดดันจากสังคมทางบ้านหากต้องย้ายกลับไป หรือเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนเลือกทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อยู่หลายปี

เมื่อขอความช่วยเหลือแล้วมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป

กรณีทำร้ายร่างกายหรือข่มขู่เอาชีวิต เมื่อแจ้งความกับตำรวจแล้ว ตำรวจจะถามความต้องการของผู้เสียหายด้วยว่าประสงค์ให้ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อไป หากผู้เสียหายต้องการ ตำรวจอาจยื่นขอคำสั่งศาลคุ้มครองไม่ให้ผู้ต้องหาเข้าใกล้หรือข่มขู่ทำร้ายผู้เสียหายได้อีก รวมถึงดำเนินคดีอาญาต่อไป 

ศาลของออสเตรเลียมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงโดยตรง ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าของคดีความและส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านวีซ่า บ้านพักฉุกเฉิน หรือหน่วยงานวางแผนแก้ปัญหาร่วมกับผู้เสียหาย (case management) เช่น สวัสดิภาพสมาคม ผู้ประสบความรุนแรงนอกเหนือจากทางร่างกายสามารถขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน

หากพบเห็นคนใกล้ตัวที่อาจเผชิญปัญหานี้อยู่จะช่วยอย่างไรได้บ้าง

ขอแนะนำให้คุณรับฟังปัญหาของเขาโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องบอกให้เขาทำอะไร อย่าโทษผู้เสียหาย แต่เริ่มจากถามความต้องการว่าเขาอยากให้ช่วยอย่างไร และให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาได้ หลีกเลี่ยงการพูดเรื่องส่วนตัวของเขาให้คนอื่นฟัง ขอความยินยอมจากเขาก่อนนำเรื่องไปเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อขอคำปรึกษา

หากคุณอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงโดยเฉพาะที่อาจถึงแก่ชีวิต อย่าลังเลที่จะโทรหาตำรวจ

ความรุนแรงในครอบครัวมีแนวทางป้องกันอย่างไร

อาจเริ่มต้นที่ให้ความรู้ในชุมชนว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นอย่างไรในโลกปัจจุบัน ความเท่าเทียมทางเพศคืออะไร การแก้ปัญหาความคิดเห็นไม่ตรงกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงทำได้อย่างไรบ้าง การสื่อสารความรู้สึกของตนเองให้กับคู่ครองอย่างตรงไปตรงมาทำอย่างไร รวมถึงไม่การผลิตซ้ำความรุนแรงผ่านสื่อ เช่น ฉากตบจูบในละคร ที่สำคัญมากคือส่งเสริมทักษะ ศักยภาพ และความภูมิใจในตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้คนเราเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง เลือกสิ่งดี ๆ ให้ตนเอง กล้าเดินออกจากความรุนแรง

ช่องทางขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ

หากมีเหตุด่วนโดยเฉพาะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต กรุณาแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 000 

ผู้อาศัยในรัฐนิวเซาท์เวลส์สามารถติดต่อ สายด่วนความรุนแรงในครอบครัวของรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ โทร. 1800 65 64 63 ตลอด 24 ชั่วโมง 

หากต้องการปรึกษาสวัสดิภาพสมาคมเพื่อร่วมวางแผนหาทางออก สามารถติดต่อสมาคมได้ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล 

  • โทร. 02 9264 3166 หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้ 
  • อีเมล  

หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน โทร. 000

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ 

Lifeline โทร. 13 11 14 หรือ 

Kids Helpline โทร. 1800 55 1800 หรือ  (บริการปรึกษา 24 ชั่วโมงสำหรับเยาวชน)

Men’s Referral Service โทร. 1300 766 491หรือ  (บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ชายโดยไม่เปิดเผยชื่อและเป็นความลับ)

 โทร. 1800 184 527 (บริการสนับสนุนสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ)

สายด่วนแห่งชาติแจ้งการกระทำทารุณและละเลยทอดทิ้งผู้พิการ โทร. 1800 880 052

ELDERHelp โทร. 1800 353 374
สารคดีของสถานีโทรทัศน์เอสบีเอสชุด See What You Made Me Do ออกอากาศครั้งแรก วันพุธที่ 5 พฤษภาคม เวลา 20.30 น. ทางช่องโทรทัศน์เอสบีเอส ติดตามตอนที่สองในวันที่ 12 พฤษภาคม และตอนที่สาม วันที่ 19 พฤษภาคม จากนั้นฉายให้ชมกันอีกครั้งวันอาทิตย์ เวลา 21.30 น. ทางช่อง SBS VICELAND

หรือชมฟรีออนไลน์ได้ทุกเมื่อทาง SBS on Demand


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share