การลงประชามติเรื่อง The Voice คืออะไรกันแน่?

Voice Yes No AAP.jpg

มีทั้งเสียงที่สนับสนุน (Yes) และไม่สนับสนุน (No) การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองชนกลุ่มแรกของออสเตรเลียด้วยการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือ The Voice Source: AAP

คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือที่เรียกกันว่า The Voice คืออะไร ในการลงประชามติเรื่องนี้ ผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลอย่างไร


เสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2023 ชาวออสเตรเลียจะเข้าร่วมการลงประชามติ ซึ่งจะมีการถามประชาชนว่า พวกเขาเห็นด้วย (Yes) หรือไม่เห็นด้วย (No) กับคำถามที่ว่า

“คุณสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองชนกลุ่มแรกของออสเตรเลียด้วยการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส หรือไม่?”

แต่คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือที่เรียกกันว่า The Voice คืออะไร ผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?

ในปี 2017 ผู้นำชนพื้นเมือง 250 คนจากทั่วประเทศได้มาชุมนุมกันที่อูลูรู

ที่นั่น พวกเขาได้กำหนดและรับรองแถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ (Uluru Statement from the Heart)

ถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่ร้อยเรียงเหมือนบทกวีนี้ร้องขอสามสิ่ง ได้แก่ การมีเสียง มีสนธิสัญญา และขอความจริง
ศาสตราจารย์ เมแกน เดวิส สมาชิกสภาการลงประชามติ ได้อ่านแถลงการณ์นี้เป็นครั้งแรกขณะยืนอยู่บนผืนดินสีแดง ที่อูลูรู ในระหว่างการชุมนุมดังกล่าว

"เราแสวงหาการปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่ประชาชนของเราและมีที่อันชอบธรรมในประเทศของเราเอง เมื่อเรามีอำนาจควบคุมโชคชะตาของเราเอง ลูกหลานของเราจะเจริญก้าวหน้า พวกเขาจะก้าวเดินไปในสองโลก และวัฒนธรรมของพวกเขาจะเป็นของขวัญให้แก่ประเทศ เราจึงขอเรียกร้องให้มีการบัญญัติเรื่องการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงของชนกลุ่มแรกลงในรัฐธรรมนูญ" ศาสตราจารย์ เดวิส อ่านข้อความหนึ่งในแถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ

แม้จะใช้เวลานานถึงหกปี แต่ขณะนี้มีการขอให้ชาวออสเตรเลียลงคะแนนเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำร้องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้

จะมีคำถามให้ชาวออสเตรเลียตอบว่า เห็นด้วย (Yes) หรือไม่เห็นด้วย (No) สำหรับคำถามต่อไปนี้คือ

“คุณสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองชนกลุ่มแรกของออสเตรเลียด้วยการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส หรือไม่?”

คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือที่เรียกกันว่า The Voice (เดอะ วอยซ์) คืออะไรกันแน่?

คณะทำงานของรัฐบาลด้านการลงประชามติเกี่ยวกับชนกลุ่มแรกของชาติ กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือที่เรียกกันว่า The Voice จะเป็นหน่วยงานถาวรที่จะแสดงทัศนะของพวกเขาต่อรัฐสภาออสเตรเลียและต่อรัฐบาลในด้านการออกกฎหมายและนโยบายที่มีความสำคัญต่อชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส
คุณแพต แอนเดอร์สัน สมาชิกผู้หนึ่งของคณะทำงานด้านการลงประชามติกล่าวว่า จำเป็นต้องมีคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือ The Voice เพราะออสเตรเลียจำเป็นต้องทำให้ดีกว่านี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับชนกลุ่มแรกของชาติ

"เป็นความจริงสากลที่ว่า เมื่อเรานำคนที่เราตัดสินใจแทนเข้ามามีส่วนร่วม เราก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้น และจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่จำเป็นได้ดีขึ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยแบบแบบเสรีนิยมไม่กี่แห่งในโลกที่ไม่มีการจัดการใด ๆ หรือไม่มีข้อตกลงใด ๆ กับชนกลุ่มแรกของชาติ" คุณแพต แอนเดอร์สัน กล่าว
เมื่อเรานำคนที่เราตัดสินใจแทนเข้ามามีส่วนร่วม เราก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้น และจัดสรรทรัพยากรทั้งหมดที่จำเป็นได้ดีขึ้น นี่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
แพต แอนเดอร์สัน สมาชิกผู้หนึ่งของคณะทำงานด้านการลงประชามติ
แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

รีคอนซิลิเอชัน ออสเตรเลีย (Reconciliation Australia) หรือองค์กรการปรองดองแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่าชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสได้เรียกร้องการมีเสียงทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาเป็นเวลาเกือบศตวรรษแล้ว

รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ลินดา เบอร์นีย์ กล่าวว่า ควรมีการทำตามข้อเรียกร้องนี้ จากเหตุผลง่าย ๆ ว่านั่นเป็นสิ่งที่ผู้นำชนพื้นเมืองร้องขอ หลังจากผ่านกระบวนการที่ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มแล้ว

"122 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญออสเตรเลียก่อตั้งขึ้น กว่า 80 ปีนับตั้งแต่วิลเลียม คูเปอร์ยื่นคำร้องของเขา 35 ปีนับตั้งแต่แถลงการณ์ของบุรุงกา 30 ปีนับตั้งแต่คำปราศรัยของนายคีตติงที่เรดเฟิร์น 16 ปีนับตั้งแต่จอห์น ฮาวเวิร์ดสัญญาว่าจะมีการลงประชามติเพื่อรับรองชนกลุ่มแรก 15 ปีนับตั้งแต่มีการกล่าวขอโทษต่อชาวพื้นเมือง 13 ปีตั้งแต่มีคณะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรับรองในรัฐธรรมนูญ และ 6 ปีตั้งแต่มีแถลงการณ์อูลูรูจากหัวใจ คำถามนี้ต้องถูกถามอย่างแน่นอน ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะได้การยอมรับ เมื่อไหร่เราจะมีทางออกให้กับประเด็นที่ไม่เสร็จสิ้นนี้เสียที" รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมือง ลินดา เบอร์นีย์ กล่าว
ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสต้องรออีกนานแค่ไหนกว่าจะได้การยอมรับ
รัฐมนตรีด้านชนพื้นเมือง ลินดา เบอร์นีย์
แล้วเหตุใดจึงต้องบัญญัติเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือ The Voice ไว้ในรัฐธรรมนูญ?

ฝ่ายตรงข้ามโต้แย้งว่า เราสามารถออกกฎหมายเพื่อให้มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองได้เช่นเดียวกับการจัดตั้งองค์กรอื่น ๆ

แต่ผู้นำชนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า การบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นจะทำให้แน่ใจได้ว่า คณะที่ปรึกษาชาวพื้นเมืองจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือไม่ถูกโค่นล้มจากรัฐบาลใด ๆ ในอนาคต ซึ่งเคยเกิดกับคณะที่ปรึกษาก่อนหน้านี้มาแล้ว เช่น ATSIC ( Aboriginal and Torres Strait Islander Commission คณะกรรมาการชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส)

ศาสตราจารย์ มาร์เชีย แลงตัน เป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่ร่วมออกแบบคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือThe Voice และเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้านการลงประชามติ กล่าวว่า

"การไต่สวนหาความจริงสาธารณะเรื่องการเสียชีวิตของชาวอะบอริจินขณะอยู่ในความควบคุมของทางการ การไต่สวนหาความจริงเรื่องการบังคับนำตัวเด็กชาวอะบอริจินไปจากครอบครัว การไต่สวนหาความจริงดอนเดล ฉันพูดไปได้ไม่รู้จบ ในแต่ละกรณีเราได้แนะนำการเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติการเสียชีวิต การถูกคุมขัง การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และชีวิตที่น่าสังเวช และไม่บ่อยนักที่มีการทำตามคำแนะนำของพวกเรา นี่คือเหตุผลที่เราไม่สามารถรายงานได้ว่ามีการพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านการลดช่องว่างแห่งความแตกต่าง พวกเรามาที่นี่เพื่อขีดเส้นตายและบอกว่า ‘นี่จะต้องเปลี่ยนแปลง ชีวิตผู้คนต้องดีขึ้น’ และเรารู้จากหลักฐานว่าสิ่งที่จะปรับปรุงชีวิตของผู้คนคือ เมื่อพวกเขาได้พูด และนี่คือสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้" ศาสตราจารย์ มาร์เชีย แลงตัน กล่าว
พวกเรามาที่นี่เพื่อขีดเส้นตายและบอกว่า ‘นี่จะต้องเปลี่ยนแปลง ชีวิตผู้คนต้องดีขึ้น’ และเรารู้จากหลักฐานว่าสิ่งที่จะปรับปรุงชีวิตของผู้คนคือ เมื่อพวกเขาได้พูด
ศาสตราจารย์ มาร์เชีย แลงตัน
เหตุใดเรื่องคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองจึงควรมีขึ้นก่อนเรื่องสนธิสัญญาและความจริง ตามที่มีการเรียกร้องในแถลงการณ์อูลูรู

ผู้สนับสนุนกล่าวว่าเป็นเพราะว่า เพื่อให้บรรลุสนธิสัญญา รัฐบาลจำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นตัวแทนในการเจรจา ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีองค์กรที่ว่านี้

โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนแสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า โดยทั่วไปแล้วประชาชนชาวออสเตรเลียสนับสนุนการยอมรับชนชาวพื้นเมืองของประเทศในรัฐธรรมนูญ

แต่ในขณะที่การโต้แย้งดำเนินไป เสียงสนับสนุนต่อข้อเสนอโดยเฉพาะให้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง (The Voice) ก็ลดลง

รัฐบาลเคยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองขั้วการเมือง ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาชี้ว่า การลงประชามติไม่น่าจะประสบความสำเร็จหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

แต่พรรคร่วม (Coalition) กลับเลือกที่จะสนับสนุนการรณรงค์ไม่เห็นด้วย

ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน ได้เรียกข้อเสนอนี้ว่า "เสียงจากแคนเบอร์รา"

"หากมีเสียงใดเสียงหนึ่งฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือผ่านกฎหมายเพื่อลบล้างเสียงนั้นได้ รัฐสภาไม่สามารถออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญได้ หากชาวออสเตรเลียทำไปแล้วมาเสียใจทีหลัง คณะที่ปรึกษา The Voice มาพร้อมกับนโยบายไม่รับคืน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะคงอยู่ตลอดไป และสถาบันที่ว่านี้ก็ไม่เคยมีการทดสอบว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ มันไม่เคยถูกระบุไว้ในกฎหมายเลย เช่นเดียวกับที่เป็นในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย และรัฐบาลอัลบานีซีก็มีตัวเลือกนี้ ซึ่งพวกเขาสามารถเลือกได้วันนี้" ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน กล่าว
หากชาวออสเตรเลียทำไปแล้วมาเสียใจทีหลัง คณะที่ปรึกษา The Voice มาพร้อมกับนโยบายไม่รับคืน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะคงอยู่ตลอดไป
ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปีเตอร์ ดัตทัน
โฆษกด้านกิจการชนพื้นเมืองของพรรคฝ่ายค้าน จาซินตา นามบิจินพา ไพรซ์ ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกของนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี มีข้อข้องใจเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่าคณะที่ปรึกษา The Voice จะมีประโยชน์ในทางปฏิบัติ และกล่าวว่าการโต้เถียงกันเกี่ยวกับ The Voice หักเหความสนใจไปจากปัญหาที่แท้จริงที่ชุมชนชาวพื้นเมืองกำลังเผชิญ

"เราถูกปล่อยให้รอไปก่อนจนกว่าการลงประชามติจะเสร็จสิ้น และปัญหาที่แท้จริงจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เนื่องจากรัฐบาลอัลบานีซีแนะว่า คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมืองต่อรัฐสภาเป็นสิ่งเดียวที่จะแก้ปัญหาใหญ่บางส่วนได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง มันเป็นความรับผิดชอบของเขา มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีด้านชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย ที่จะต้องจัดการกับข้อกังวลเร่งด่วนเหล่านี้ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นที่นี่ในขณะนี้" โฆษกด้านกิจการชนพื้นเมืองของพรรคฝ่ายค้าน จาซินตา ไพรซ์ กล่าว

คำวิพากษ์วิจารณ์อื่น ๆ ได้แก่ ข้อเสนอเกี่ยวกับคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือ The Voice นั้นขาดรายละเอียด ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และเสี่ยงต่อการถูกท้าทายทางกฎหมาย

คุณวาร์เรน มันดีน ซึ่งเป็นโฆษกของฝ่ายที่รณรงค์ไม่เห็นด้วย กล่าวเรื่องนี้ว่า

"มุมมองของผมเกี่ยวกับเสียงต่อรัฐสภาคือเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เงิน 300 ล้านดอลลาร์ที่อาจนำไปใช้ในโครงการชุมชนในพื้นที่ห่างไกลของออสเตรเลียได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะการคาดการณ์ว่าชาวอะบอริจินไม่มีเสียง พวกเรามีเสียงเสมอมา และเรามีเสียงที่แข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 1973 ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีงาน มีการศึกษา และมีการลงทุนในชุมชนเหล่านั้น และสร้างธุรกิจ นั่นจะเป็น สิ่งเดียวที่จะสร้างความแตกต่างได้" คุณวาร์เรน มันดีน กล่าว
มุมมองของผมเกี่ยวกับเสียงต่อรัฐสภาคือเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
วาร์เรน มันดีน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ต่อต้านคณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง หรือ The Voice จะมีความเห็นในทิศทางเดียวกัน

ด้วยเหตุผลที่ต่างจากพรรคร่วม วุฒิสมาชิกอิสระของรัฐวิกตอเรีย ลิเดีย ทอร์ป กล่าวว่า คณะที่ปรึกษาเสียงชาวพื้นเมือง ยังไปไกลไม่พอ

เธอเรียกร้องให้มีสนธิสัญญากับชาวพื้นเมืองและดำเนินการตามคำแนะนำอย่างเต็มรูปแบบของคณะกรรมาธิการไต่สวนหาความจริงสาธารณะปี 1991 เกี่ยวกับการเสียชีวิตของชาวอะบอริจินขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการ

"คุณประหัตประหารพวกเราอีกครั้ง โดยไม่ให้อำนาจใด ๆ แก่เราเลย ถ้าคุณจริงใจ ก็ให้ที่นั่งในวุฒิสภาแก่พวกเราสิ เหมือนที่ทำกันในนิวซีแลนด์ ทำสนธิสัญญาเหมือนที่ทำกัน ทำไมถึงทำไม่ได้ จะกลัวอะไร กลัวพรรคแรงงานเหรอ ฮอว์คถูกลูกพรรคอนุรักษ์นิยมกีดกันในเวลานั้นและบอกว่าอย่าทำสนธิสัญญา คีตติงเคยพยายามแล้ว แต่ถูกสกัดกั้น และเห็นได้ชัดว่าอัลโบก็ไม่มีกึ๋น" วุฒิสมาชิก ลิเดีย ทอร์ป กล่าว
ถ้าคุณจริงใจ ก็ให้ที่นั่งในวุฒิสภาแก่พวกเราสิ เหมือนที่ทำกันในนิวซีแลนด์
วุฒิสมาชิก ลิเดีย ทอร์ป
การลงประชามติครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2023

การลงประชามติจะประสบผลสำเร็จ ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงข้างมากจากผู้ลงคะแนนเสียง และการได้รับเสียงข้างมากนั้นต้องเกิดขึ้นในรัฐและมณฑลต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงที่ยากนักที่จะสำเร็จ

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share